เขตสุขภาพที่ 1 ห่วงใยเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม บูรณาการทีม MCATT ร่วมลงพื้นที่ประเมินสุขภาพใจ โดยใช้หลักการ 3 ส. สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อโยง
เมื่อวันที่ 30 ส.ค.67 ทีม MCATT บูรณาการภายใต้เขตสุขภาพที่ 1 ห่วงใยเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วม ทั้งนี้เตรียมวางแผนประเมินสุขภาพใจในเด็กและเยาวชน ในโรงเรียนและชุมชนที่ได้ผลกระทบ
นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมซึ่งถือว่ายังอยู่ในระยะวิกฤตและฉุกเฉิน (ตั้งแต่เกิดเหตุ-2 สัปดาห์) โดยทีม MCATT เขตสุขภาพที่ 1 ได้ลงพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำท่วม พบว่ากลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบนอกจากผู้ใหญ่และผู้สูงอายุแล้ว ยังพบว่าเด็กเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วยเช่นกัน ซึ่งจากเหตุการณ์สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันที่ได้เข้าทั้งบ้านและโรงเรียน ต้องวิ่งหนีเพื่อเอาตัวรอด จากสถานการณ์ดังกล่าวเด็กอาจเกิดความตื่นตระหนก ตกใจ และหวาดกลัว จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการประเมินสุขภาพใจในเด็ก ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาสุขภาพจิตเด็กในอนาคตได้
นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์นี้มีผลกระทบต่อสภาวะจิตใจเด็ก ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ที่มีความเครียด วิตกกังวล สับสน ตื่นกลัว และความรู้สึกไม่ปลอดภัยได้เช่นเดียวกัน แต่แสดงออกแตกต่างกันไปตามช่วงวัยของเด็กแต่ละคน สาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดความเครียดก็แตกต่างกันไป เด็กบางคนเครียดเพราะว่าพ่อแม่เครียด เด็กบางคนเครียดเพราะว่าพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ เด็กบางคนเครียดเพราะว่าต้องอพยพย้ายบ้าน เด็กบางคนเครียดเพราะว่าถูกส่งไปอยู่กับญาติพี่น้องที่อื่นเพื่อความปลอดภัย เด็กบางคนเครียดเพราะว่าของเล่นหรือของที่หวงแหนต้องจมน้ำไป และเหตุผลอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผู้ใหญ่อาจไม่ค่อยรู้แต่การแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามสภาวการณ์ แต่ไม่กระทบกับสภาวะจิตใจอย่างรุนแรงเหมือนกับภัยพิบัติอื่นๆ แนะนำพ่อแม่ใช้กุญแจสำคัญ 5 ตัว คือ F-L-O-O-D 1. Fact บอกข้อเท็จจริง 2. Love แสดงความรักความใส่ใจ 3. Observe หมั่นสังเกต 4. Outlet เปิดช่องทางระบาย และ 5. Do and Don’t พูดถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ ซึ่งเป็นข้อแนะนำเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเด็กในอนาคตต่อไป
พญ.หทัยชนนี บุญเจริญ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กล่าวว่า กลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจเกิดผลกระทบด้านจิตใจสูง ได้แก่ เด็กที่ต้องสูญเสียบ้านต้องอยู่ในศูนย์พักพิง สูญเสียคนในคอบครัว สูญเสียของที่รัก เป็นต้นจึงต้องมีการประเมินภาวะเสี่ยงด้านสุขภาพจิตในเด็ก โดยสังเกตจากพฤติกรรม เช่น ในเด็กเล็กอาจกลับไปมีพฤติกรรมเด็กกว่าวัย เช่น ดูดนิ้ว ปัสสาวะรดที่นอน ติดผู้เลี้ยงดูมากขึ้นหรือนอนฝันร้าย ไม่ยอมนอน ละเมอ ผวาตื่น ในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นอาจพบว่าเด็กดูไม่ร่าเริง เงียบ แยกตัว ไม่ค่อยพูดเหมือนเดิม หรือมีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว ก้าวร้าวง่ายกว่าเดิม สัมพันธภาพกับคนอื่นแย่ลง รวมถึงพฤติกรรมการกิน นอนมีปัญหา ในช่วงแรกอาจยังไม่พบผลกระทบต่อจิตใจเด็กที่ชัดเจน
จึงแนะนำว่าให้สังเกตพฤติกรรมและอารมณ์เด็ก ในระยะ 1-2 สัปดาห์ หลังเกิดเหตุการณ์ และได้เตรียมทีม MCATT เขตสุขภาพ ร่วมกับ จังหวัดและอำเภอ ประกอบด้วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น นักจิตวิทยา และทีมสหวิชาชีพ พร้อมลงพื้นที่ และมีแผนในการเฝ้าระวังการเกิดบาดแผลทางใจหลังเหตุการณ์วิกฤต หรือ Posttraumatic Stress Disorder (PTSD) จะมีประสานงานกับสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การใช้หลักการ 3 ส. สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อโยงยังมีความสำคัญอยู่เสมอในทุกกลุ่ม ในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ การสอดส่องมองหาพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเด็ก ใส่ใจรับฟัง ให้เด็กอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย อยู่กับผู้ดูแลที่เด็กรู้สึกปลอดภัย ชวนเด็กพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องทั่วไป อารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น รับฟังเด็กด้วยท่าทีที่ใส่ใจ ให้เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือแสดงความคิดเห็น ชื่นชมเมื่อเด็กทำสิ่งที่ดีหรือสำเร็จแม้แต่เพียงเล็กน้อย ให้ข้อมูลจำเป็นตามวัย ให้เด็กได้ทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ มีกิจกรรมที่ทำแล้วผ่อนคลาย เช่น เล่นของเล่น ปั้นดินน้ำมัน ระบายสี พูดคุยถึงสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นในเชิงบวก เช่น ชวนกันคิดว่าหากน้ำลดแล้วกลับบ้านจะทำอะไรก่อนดี
อย่าลืมให้เด็กมีส่วนช่วยในการทำกิจกรรม เช่น ทำงานบ้าน ช่วยเหลือผู้อื่นเล็กๆ น้อยๆ หากอาการยังไม่ดีขึ้น ประสานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หน่วยบรรเทาสาธารณภัยหรือกู้ชีพกู้ภัย โทร.1784 หรือ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อส่งต่อทีม MCATT โรงพยาบาลหรือสาธารณสุขในพื้นที่ต่อไป
- 177 views