ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เผยสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่เขต 1 เชียงใหม่ มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ ได้รับผลกระทบ 242 ราย เร่งแก้ปัญหาด่วน ประสานดูแลให้เข้ารับบริการที่หน่วยบริการฟอกไตฯ ในพื้นที่ใกล้เคียงไม่ได้รับผลกระทบแล้ว พร้อมแจ้งประชาชนหากเจ็บป่วยใช้  “30 บาทรักษาทุกที่” รับบริการหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกแห่ง 

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2567 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดในหลายจังหวัดภาคเหนือในขณะนี้และได้ส่งผลกระทบต่อการรับบริการของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง และ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รับบริการล้างไตทางช่องท้อง หรือบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ ติดตามสถานการณ์และประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ 

ในส่วนของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยนั้น จากรายงานของ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่พบว่า มีหน่วยไตเทียมที่ให้บริการฟอกเลือดที่ได้รับผลกระทบถูกน้ำท่วมมีทั้งหมด 8 แห่ง อยู่ใน จ.น่าน 3 แห่ง โดยมีผู้ป่วยได้รับผลกระทบ 141 ราย และ จ.แพร่ 2 แห่ง มีผู้ป่วยได้รับผลกระทบ 95 ราย และ จ.พะเยาอีก 3 แห่ง มีผู้ป่วยได้รับผลกระทบ 6 ราย รวมเป็นผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจำนวน 242 ราย โดยมาตรการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ในส่วนของผู้ป่วยที่รับบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จะส่งต่อให้ไปรับบริการที่หน่วยบริการล้างไตด้วยเครื่องไตเทียมในจุดใกล้เคียงที่ยังสามารถให้บริการได้ และในผู้ป่วยบางรายที่สามารถเลื่อนวันฟอกเลือดได้ ก็จะเลื่อนออกไปก่อน 1-2 วัน

 ขณะที่ผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้องที่บ้านน้ำท่วม จนทำให้น้ำยาล้างไตได้รับความเสียหาย มีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบใน จ.พะเยา จำนวน 2 ราย โดยได้มีการประสานจัดส่งน้ำยาล้างไตจากสต๊อกของโรงพยาบาลให้ไปใช้ก่อน และใน จ.เชียงราย มีผู้ป่วย 1 ราย ที่ใช้น้ำยาล้างไตจนหมดและไม่สามารถจัดส่งน้ำยาชุดใหม่ไปให้ได้  เบื้องต้นให้ส่งน้ำยาล้างไตจากสต๊อกของโรงพยาบาลไปให้ผู้ป่วยแล้วเช่นกัน

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ส่วนผลกระทบในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ จากรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในเขตเทศบาล จ. น่าน ได้มีการขนย้ายผู้สูงอายุขึ้นไปอยู่บนชั้น 2 ของบ้านแล้ว และมี 1 ราย ได้ส่งต่อไปที่โรงพยาบาลน่าน อย่างไรก็ดี ในส่วนของการกระจายผ้าอ้อมผู้ใหญ่ไม่เป็นปัญหา เนื่องจากได้มีการแจกจ่ายผ้าอ้อมให้ใช้ได้ครั้งละหลายๆ วันก่อนเกิดน้ำท่วมแล้ว ขณะที่ใน จ.แพร่ ภาวะน้ำท่วมหนักจะอยู่ในเขตเทศบาลเมืองแพร่ และเทศบาลป่าแมต โดยมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุถูกน้ำท่วม อย่างไรก็ดีทางหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการอพยพผู้ป่วยไปดูแลที่โรงพยาบาลแพร่แล้ว 8 ราย เช่นกัน

สำหรับที่ จ.เชียงราย อำเภอที่น้ำท่วมมากที่สุด คือ อ.เทิง แต่ได้มีการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุไปบนชั้น 2 ของบ้านและยังไม่มีรายงานปัญหาการดูแลผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับ จ.พะเยา โดยมีระดับน้ำท่วมไม่มากและยังไม่มีรายงานปัญหาการดูแลผู้สูงอายุเช่นกัน

สำหรับประชาชนทั่วไปนั้น เนื่องจากทั้ง 4 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นจังหวัดที่เริ่มดำเนินการตามนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” อยู่แล้ว ดังนั้น หากหน่วยบริการที่ประชาชนลงทะเบียนไว้ถูกน้ำท่วมหรือมีอุปสรรคในการเดินทางไปรับบริการ ก็สามารถไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิอื่นได้ทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล หรือหน่วยบริการนวัตกรรม ทั้ง คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น ร้านยาคุณภาพ คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น และคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น ที่เข้าร่วมให้บริการตามนโยบาย 

อย่างไรก็ตาม หลังสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว ขอแนะนำให้ประชาชนไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ลงทะเบียนไว้จะดีที่สุด เนื่องจากเป็นหน่วยบริการใกล้บ้าน มีความสะดวกและประหยัดเวลาเดินทาง อีกทั้งหน่วยบริการยังสามารถให้การดูแลต่อเนื่องได้ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรคเบื้องต้น ไปจนถึงการฟื้นฟูและดูแลระยะยาว

 หากประชาชนมีข้อสงสัยในการรับบริการ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 1.สายด่วน สปสช. 1330 และ 2.ช่องทางออนไลน์ ผ่านไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และทาง Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand