กรมควบคุมโรคแถลงพบผู้ป่วยสงสัย “ฝีดาษวานร” สายพันธุ์รุนแรงจากแอฟริกา เคลด 1 บี  ขอยืนยัน 100% ภายใน 23 ส.ค.นี้ พร้อมติดตามคนใกล้ชิด 43 คน รวม 21 วัน

 

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่กรมควบคุมโรค(คร.)  นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวพบผู้ต้องสงสัยป่วยโรคฝีดาษวานรสายพันธุ์เคลด 1 บี (Clade 1B)  ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ภายหลังองค์การอนามัยโลกประกาศเป็น "ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ"  ว่า ขณะนี้ไทยพบผู้ป่วยฝีดาษวานร สงสัยสายพันธุ์เคลด 1 บี (Clade 1B)  1 ราย  เป็นชายชาวยุโรป อายุ 66 ปี เดินทางมาจากประเทศกลุ่มแอฟริกา

"ขอย้ำว่า วันนี้ ไม่ใช่ว่า เรามาแถลงยืนยันว่าพบเคลด 1 บีในไทยแล้ว แต่เราพบผู้ป่วยสงสัยเท่านั้น ยังไม่ 100% ว่าเป็น เคลด 1 บี  ซึ่งการแถลงครั้งเพื่อยืนยันระบบการเฝ้าระวังของประเทศไทยที่มีการติดตามอย่างรวดเร็ว ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจเชื้อยืนยันอีกครั้ง คาดว่าจะทราบภายในวันที่ 23 ส.ค.นี้" นพ.ธงชัย กล่าว

รอยืนยันผล 23 ส.ค.หากใช่ถือเป็นรายแรกของไทย

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า  ผู้ป่วยสงสัยรายนี้ เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ตั้งแต่เวลา 18.00 น. มาจากประเทศแถบแอฟริกา ซึ่งมีการระบาดของฝีดาษวานรเคลด 1 บี โดยมีการต่อเครื่องที่ตะวันออกกลาง ก่อนเข้าประเทศไทย  หลังจากนั้นวันที่ 15 ส.ค.ช่วงเช้า ผู้ป่วยเริ่มมีไข้ และเริ่มมีตุ่มขึ้นมาเล็กน้อย จึงไปที่โรงพยาบาล ซักประวัติสงสัยเข้าได้กับฝีดาษวานร  จึงตรวจหาสายพันธุ์เคลด 2 แต่ผลเป็นลบ พอตรวจสายพันธุ์เคลด 1 บี ก็ให้ผลไม่ชัดเจน จึงตรวจยืนยันด้วยวิธี Rt-PCR ยืนยันว่าเป็นฝีดาษวานร ส่วนสายพันธุ์อยู่ระหว่างรอยืนยัน  ทั้งจากสถาบันบำราศนราดูร  กรมวิทยาศาสตรการแพทย์ รวมถึงโรงพยาบาลเพื่อยืนยันผลอีกครั้งภายในวันที่ 23 ส.ค.นี้

"หากศุกร์นี้ผลอกมายืนยันว่าเป็นสายพันธุ์เคลด 1 บี ก็ถือเป็นรายแรกของประเทศไทย แต่ถึงแม้วันนี้จะยังไม่ยืนยัน 100% ก็ต้องออกมาให้ข้อมูลกับประชาชน เพื่อไม่ให้ทุกคนหาข่าวแล้วจินตนาการกันเอง เป็นการสร้างความตระหนัก ไม่ให้ตระหนก" นพ.ธงชัย กล่าว

ติดตามคนสัมผัสใกล้ชิด 43 คน

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า  เรามีระบบในการติดตามคนสัมผัส คนนั่งเครื่องบินเที่ยวเดียวกัน นับจากที่นั่ง 2 แถวใกล้ผู้ป่วยรายนี้ มีการสอบสวนโรค ขณะนี้มีรายชื่อทั้งหมดแล้ว รวม 43 คน ล็อคเป้าเรียบร้อย  มีทั้งไทยและต่างชาติ จะเห็นว่า ผู้ป่วยรายนี้มีเวลาสัมผัสกับคนสั้นมาก เพราะมาถึงไทย 6 โมงเย็นแล้ววันรุ่งขึ้นก็ไปพบแพทย์และอยู่ที่รพ.เลย ซึ่งการติดตามคนสัมผัสใกล้ชิดใช้เวลา 21 วัน” นพ.ธงชัย กล่าว

สำหรับอาการของผู้ป่วยล่าสุดดีขึ้น  ไม่รุนแรง และไม่มีอาการแทรกซ้อน ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิด 43 คนไม่จำเป็นต้องกักตัว ยังไม่พบความผิดปกติ แต่แนะนำให้ความรู้ในการป้องกันตนเอง รวมถึงหากมีอาการต้องสงสัย เช่น มีไข้ ตุ่มหนอง ผื่น ให้รีบพบแพทย์

เมื่อถามถึงอัตราการเสียชีวิต 2 สายพันธุ์ มีความแตกต่างกัน นพ.ธงชัย กล่าวว่า เคลด 1 บี มีความรุนแรงมากกว่า อัตราการเสียชีวิต ประมาณ 3-5% ที่องค์การอนามัยโลกเป็นห่วงเพราะพบติดในเด็กด้วย ส่วนเคลด 2 อัตราการเสียปะมาณ 1.3% 

ฝีดาษวานร 1 ใน 57 โรคที่ต้องเฝ้าระวังของไทย

เมื่อถามว่ามีผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด ปัจจุบันเดินทางเข้ามายังประเทศไทยวันละประมาณเท่าไหร่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า หากนับจากสายการบินตรงไม่แวะ จะมีประมาณ 4 สายการบิน แต่เรามีประกาศว่า 42 ประเทศ ที่เดินทางเข้าไทยต้องมาพบที่ด่านควบคุมโรคของประเทศไทย วัดไข้ ดูอาการ ซักถามประวัติ และเริ่มประสานสายการบินในการตรวจสอบ คัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทั้งหมด

“ความเสี่ยงของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำมาก หรือระดับ 1 หากจะยกระดับมาตรการควบคุมป้องกันโรค ต้องพบการติดเชื้อภายในประเทศ และพบเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งผมมั่นใจว่าจะไม่มีการระบาดเหมือนโรคโควิด เพราะไม่ได้ติดต่อง่าย การจะแพร่เชื้อได้ ต้องมีอาการ ต่อมน้ำเหลืองโต ถึงจะติด หรือระบาดได้ สรุปคือ  1. การติดของเชื้อนี้ไม่ง่าย 2. การแพร่ วิธีการตัวของเชื้อเองไม่ได้มีประสิทธิภาพในการติดเหมือนโควิด การจะติดต้องใกล้ชิดกันมากๆ แตะตัว แตะผิวหนัง น้ำลายออกไปยังไม่ติดเลย” นพ.ธงชัย กล่าว และว่า ขณะนี้ ฝีดาษวานร ยังจัดเป็น 1 ใน 57 โรคที่ต้องเฝ้าระวัง