กรม สบส. จับมือ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาศักยภาพครูฝึกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตามหลักสูตรมาตรฐาน เพื่อพัฒนาสมรรถนะ ทักษะสำหรับครูฝึก อสม.ในงานสาธารณสุขมูลฐานไปถ่ายทอดความรู้ให้ อสม.ไปใช้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็ง
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. พร้อมด้วยศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและอบรมครูฝึกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดี กรม สบส. ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการสาธารณสุขมูลฐานซึ่งมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพอนามัยโดยประชาชน เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน ซึ่งจะต้องอาศัยพลังจากหลากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะพลังของภาคประชาชน อย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมและการจัดการสุขภาพชุมชน จะต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง
ครูฝึกอบรม อสม.จึงถือเป็นบุคคลสำคัญในการฝึกอบรม อสม.ให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะและเจตคติที่ดี พร้อมปฏิบัติหน้าที่ อสม.ได้อย่างมีมาตรฐาน กรม สบส. จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล (สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการและพัฒนาศักยภาพครูฝึกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ขึ้น ในระหว่างวันที่ 20 - 23 สิงหาคม 2567 ซึ่งจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง 2 หน่วยงาน ในการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานครูฝึกอบรม อสม. ซึ่งจะเป็นหลักสูตรสำคัญในการสร้างและพัฒนาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้เป็นครูฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพของ อสม. ให้เป็นไปตามหลักการสาธารณสุขมูลฐาน โดยการประชุมฯ ในครั้งนี้ ได้มีการเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้ง 2 หน่วยงาน มาให้ความรู้ในหลักสูตรครูฝึกอบรม อสม. แก่ภาคีเครือข่ายเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานสุขภาพภาคประชาชนทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค กว่า 160 ราย
นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงสร้างหลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานครูฝึกอบรม อสม. ที่ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันพัฒนานั้น ประกอบด้วยเนื้อหา 10 รายวิชา อาทิ นโยบาย ทิศทางการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานและสุขภาพภาคประชาชน หลักการทฤษฎีที่เกี่ยวกับสาธารณสุขมูลฐาน คุณธรรม จริยธรรม ของครูฝึกอบรม อสม. การสื่อสารสุขภาพและการปรับพฤติกรรมสุขภาพ และเทคนิคการทำงานเป็นทีม เป็นต้น โดยใช้เวลาฝึกอบรม 25 ชั่วโมง มีรูปแบบการอบรมที่เน้นการปฏิบัติการ คิด วิเคราะห์ เพื่อสร้างให้ครูฝึกอบรม อสม. เป็นบุคคลต้นแบบที่สามารถนำความรู้ และทักษะที่ได้รับจากหลักสูตรไปประยุกต์ใช้ในการฝึกอบรม อสม. และเป็นที่ปรึกษาในการจัดการฝึกอบรม อสม.ในพื้นที่ ให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลสุขภาพตนเองและชุมชนได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ เกิดการพัฒนางานสาธารณสุขมูลฐาน และเสริมสร้างระบบงานสุขภาพในระดับชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
- 571 views