หัวหน้าศูนย์จีโนมฯ รามาธิบดี ให้ความรู้ “ฝีดาษวานร” สายตระกูล Clade 1 และ Clade 2 กับการกลายพันธุ์สู่ Clade 1b  แพร่เร็ว พบได้ในเด็ก อัตราความรุนแรงจนเสียชีวิตสูง หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงเดินทางไปประเทศเสี่ยง เพราะมีข้อมูลถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้ หนำซ้ำเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ง่ายขนาดอยู่ในบ้าน 4 ชั่วโมงติดเชื้อ แต่ไม่ใช่แอร์บอร์น  ย้ำ! ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันความรุนแรง 68-80% แต่มีค่าใช้จ่าย

 

จากกรณีการระบาด “โรคฝีดาษวานร” ที่กำลังแพร่ระบาดในกลุ่มประเทศแอฟริกา โดยเฉพาะดีอาร์ คองโก ที่มีสายพันธุ์ เคลด 1 บี (Clade 1b) ซึ่งแพร่เชื้อง่าย และพบการติดเชื้อในเด็ก มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าสายพันธุ์เคลด 2บี ที่พบในไทย กระทั่งองค์การอนามัยโลกประกาศให้ฝีดาษวานร (MPox) ในบางพื้นที่ของทวีปแอฟริกามีสถานะเป็น "ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ" หนำซ้ำเร็วๆนี้ ประเทศสวีเดนยังพบผู้ป่วยสายพันธุ์เคลด 1 บีอีกนั้น โดยกรมควบคุมโรคได้ยกระดับการเฝ้าระวังตามที่เคยเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้

รู้จักสายพันธุ์ฝีดาษวานร สายตระกูล Clade 1 และ Clade 2

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลถึงสายพันธุ์ฝีดาษวานร ภายในงานสัมมนาวิชาการด้านจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ ซึ่งจัดโดยกรมการแพทย์ ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง  ว่า  ฝีดาษวานร (Mpox หรือ Monkeypox)  มีสายตระกูลเรียกว่า เคลท1(Clade 1)  เคลท 2 (Clade 2)  โดยเคลท1 มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10%  แต่ขณะนี้ที่ระบาดไม่ใช่เคลท1  แต่ปรับเปลี่ยนสายพันธุ์มาเป็นเคลท 1บี (Clade 1b) ซึ่งเคลท 1บี  ยังน่ายินดีตรงที่อัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือ 1% แต่ติดต่อง่ายกว่า ปี 2565 ที่มีการระบาด ของสายพันธุ์เคลท 2บี  แต่ไม่รุนแรงเหมือนกัน  โดยประเทศไทย ปัจจุบันเป็นสายพันธุ์เคลท 2บี

Clade 1b ติดง่าย พบได้ในเด็ก อัตราเสียชีวิตสูง

ดังนั้น เห็นได้ว่า ฝีดาษวานรสายพันธุ์  เคลด 1 บี (Clade 1b) เป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่แล้ว แต่ปรับตัวเองให้ติดเชื้อง่ายขึ้น จากเดิมปี2565 เคยระบาดเคลด 2 บี มีความแตกต่างกันโดยในอดีตติดต่อค่อนข้างยาก ต้องสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด พบมากในกลุ่มชายรักชาย แต่ปีนี้กลับเปลี่ยนไป โดยเฉพาะสาธารณรัฐคองโก มีการติดต่อง่ายขึ้น  ซึ่งปัจจุบันมีคนติดเชื้อเคลด 1 บีไปแล้วประมาณ 18,000 คน เสียชีวิตกว่า 500 กว่าคน

อยู่บ้านเดียวกันเสี่ยงติดเชื้อได้ 4 ชั่วโมง

“ที่น่าตกใจคือ จำนวนผู้เสียชีวิตในนี้เป็นเด็กถึง 70%  แสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ง่ายขึ้น คนที่อยู่บ้านเดียวกัน อย่างเด็กเล็กก็สามารถถ่ายทอดเชื้อกันได้ ผ่านสารคัดหลั่ง การไอจาม ซึ่งมีการติดตามข้อมูลจากแอฟริกาพบว่า คนที่ป่วยและไปอยู่ในบ้านเดียวกันประมาณ 4 ชั่วโมงมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ ทั้งจากการสัมผัสเชื้อจากสารคัดหลั่ง การใช้มือที่สัมผัสเชื้อขยี้ตา การไอหรือจาม โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ ย่อมติดเชื้อได้ แต่ต้องย้ำว่า ไม่ใช่การติดเชื้อจากแอร์บอร์น” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว

เมื่อถามว่าไวรัสฝีดาษวานร มีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์คล้ายๆโควิด19 หรือไม่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์  กล่าวว่า กรณีนี้ไม่เหมือนโควิด19 เนื่องจากฝีดาษวานร ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนว่า เพราะอะไรถึงสปีดอัพ แต่ไวรัสพยายามแทรกเข้ามาตัวโฮสที่เป็นมนุษย์ แต่ยังไม่อยากให้กังวล เพราะระบบการเฝ้าระวัง โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของไทยมีระบบเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น แต่สิ่งสำคัญต้องให้ความรู้ประชาชน เนื่องจากฝีดาษวานร มีระยะฟักตัวอยู่ 22 วัน ดังนั้น หากคนไทยเดินทางไปประเทศเสี่ยง อย่างแอฟริกา หรือดีอาร์คองโก ต้องสื่อสารให้ทราบว่า เมื่อเดินทางกลับมาขอให้สังเกตตนเอง ว่า มีอาการคล้ายไข้หวัด มีผื่นขึ้นตามตัว ต้องรีบพบแพทย์ ซึ่งจะมีระบบรายงานข้อมูลจากสถานพยาบาลไปยังกรมควบคุมโรค

วัคซีนฝีดาษวานรป้องกันได้ 68-80% แต่มีค่าใช้จ่าย

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวอีกว่า  ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคนี้แล้วเช่นกัน โดยสภากาชาดไทยนำเข้ามา แต่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถฉีดก่อนและหลังเดินทางไปกลุ่มเสี่ยงได้ โดยข้อมูลที่ผ่านมาหากสัมผัสเชื้อมาแล้ว จะฉีดป้องกันความรุนแรงได้ 68%-80%  

เมื่อถามว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของฝีดาษวานร เคลด 1 บี ที่ขณะนี้พบในสวีเดนแล้ว มองว่าจะมีความเสี่ยงเข้ามาไทยได้หรือไม่  ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะตอนนี้ไม่มีนโยบายกักตัว แต่เป็นการควบคุมดูแล ซักประวัติ ซึ่งจริงๆ ของไทยมีกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค  มีระบบในการเฝ้าระวังที่มีศักยภาพ สามารถตรวจจับได้หากพบสายพันธุ์ใหม่   ซึ่งทางกรมควบคุมโรค จะมีข้อมูลการรายงานผู้ป่วยฝีดาษวานรในประเทศไทย  และตรวจหาสายพันธุ์ฝีดาษวานรทุกรายในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายสงสัย     

สำหรับห้องปฏิบัติการ ในการตรวจหาสายพันธุ์ฝีดาษวานร ต้องเป็นห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 ที่มีความปลอดภัยในการตรวจสูงมา โดยห้องจะถูกออกแบบมาพิเศษขึ้นอีกระดับ เป็นระบบป้องกันไม่ให้อากาศภายในที่อาจมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก    

หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงเดินทางไปประเทศเสี่ยง  

“ขอย้ำว่า หากหลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศเสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดของฝีดาษวานร โดยเฉพาะฝีดาษวานรสายพันธุ์ Clade1b ในประเทศแถบแอฟริกาหรือประเทศสาธารณรัฐ ประชาธิปไตย คองโก ขอให้หลีกเลี่ยงไปก่อน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรเดินทางไปในประเทศเสี่ยงเหล่านี้ เนื่องจากมีข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ฝีดาษวานรสายพันธุ์เคลด 1บี สามารถถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากประชาชนทั่วไป มีความจำเป็นต้องเดินทางไป ขอให้ ป้องกันสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด  หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่อาจเป็นพาหะของไวรัส โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดของฝีดาษลิง เช่น หนูและลิง หรือสัตว์ฟันแทะอื่นๆ

 

 

 

เตือนแพร่ระบาดทั่วโลกในอนาคตอันใกล้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ทางศูนย์จีโนมฯหรือ Center for Medical Genomics โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กระบุ ว่า 

เอนไซม์ "เอโพเบค-สาม (APOBEC3)" ในร่างกายมนุษย์ มีบทบาทสำคัญในการเร่งการกลายพันธุ์ของไวรัสฝีดาษลิงในระดับจีโนม ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดทั่วโลกในปี 2565 นอกจากนี้ ยังอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การระบาดครั้งใหม่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปีนี้ 2567 ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะลุกลามเป็นการระบาดระดับโลกในอนาคตอันใกล้

การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในปี 2565 ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ มีความเชื่อมโยงกับการปรับตัวทางพันธุกรรมอันเนื่องมาจากเอนไซม์ APOBEC3 เอนไซม์นี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติในร่างกายมนุษย์ ซึ่งมีบทบาทในการสร้างการกลายพันธุ์ในจีโนมของไวรัส นำไปสู่การวิวัฒนาการและการปรับตัวของเชื้อ ในการระบาดครั้งนั้น ไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade IIb เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะผ่านการมีเพศสัมพันธ์

การศึกษาพบว่า ไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade IIb มีการกลายพันธุ์จำนวนมากที่เกิดจากเอนไซม์ APOBEC3 ซึ่งเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมจาก C เป็น T และ G เป็น A บนจีโนมของไวรัส แม้ว่าปฏิกิริยานี้มีจุดประสงค์เพื่อทำลายไวรัส แต่กลับพบว่าการกลายพันธุ์ดังกล่าวช่วยให้ไวรัสปรับตัวและเพิ่มจำนวนในร่างกายมนุษย์ได้ดีขึ้น ส่งผลให้มีความสามารถในการแพร่เชื้อสูงขึ้น

การกลายพันธุ์จาก APOBEC3 อาจทำให้ความรุนแรงของไวรัสลดลง นำไปสู่การติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสการแพร่เชื้อแบบไม่รู้ตัวและยากต่อการควบคุม นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ว่าสายพันธุ์อื่นๆ ของไวรัสฝีดาษลิงอาจเกิดการวิวัฒนาการในลักษณะคล้ายคลึงกัน

จับตาไวรัสในคองโก

ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade Ib ซึ่งพัฒนามาจาก Clade I มีบทบาทสำคัญในการระบาดครั้งใหญ่ DRC เป็นแหล่งกำเนิดการระบาดของฝีดาษลิง Clade I มาอย่างยาวนาน โดยมีการระบาดครั้งสำคัญในปี 2556 ที่จังหวัด Bokungu ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 600 เท่า ล่าสุดในปี 2567 พบไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade Ib ในจังหวัด South Kivu โดยการวิเคราะห์จีโนมพบความแตกต่างจาก Clade I และมีการกลายพันธุ์จาก APOBEC3 เป็นส่วนใหญ่ สิ่งนี้บ่งชี้ว่า Clade Ib อาจเกิดการกลายพันธุ์คล้ายกับ Clade IIb ซึ่งอาจนำไปสู่การระบาดที่แพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้น ทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์และการสัมผัสสารคัดหลั่ง

การระบาดของ Clade Ib ใน DRC เน้นย้ำถึงความจำเป็นในทุกประเทศต้องร่วมด้วยช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสฝีดาษลิงทั้งจีโนมที่แยกได้จากผู้ป่วยในประเทศและแชร์ข้อมูลไปยังฐานข้อมูลไวรัสฝีดาษลิงโลก จีเสส (GISAID) เพื่อการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเข้มงวด การวิวัฒนาการที่เกิดจาก APOBEC3 ในไวรัสฝีดาษลิง Clade Ib อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อที่รวดเร็วและปรับตัวเข้ากับมนุษย์ได้ดีขึ้น คล้ายกับที่เกิดขึ้นในการระบาดทั่วโลกปี 2565 จาก Clade IIb สถานการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาวิวัฒนาการของไวรัสฝีดาษลิงอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนากลยุทธ์ด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ

การศึกษาในคองโกยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของอัตราการกลายพันธุ์ในแต่ละสายพันธุ์ของไวรัสฝีดาษลิง โดยพบว่า:

- สายพันธุ์ Ia มีการกลายพันธุ์จาก APOBEC3 เพียง 10.7% บ่งชี้ว่าส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสัตว์สู่คน

- สายพันธุ์ Ib มีการกลายพันธุ์ 20.7% แสดงถึงการแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คนที่เพิ่มขึ้น

- สายพันธุ์ IIb มีการกลายพันธุ์สูงถึง 35.9% สอดคล้องกับการระบาดทั่วโลกในปี 2565 ที่แพร่เชื้อระหว่างคนเป็นหลัก

ความแตกต่างนี้สะท้อนถึงรูปแบบการแพร่เชื้อที่แตกต่างกัน โดยสายพันธุ์ Ib และ IIb มีแนวโน้มแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คนได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ Ia อย่างชัดเจน

https://www.medrxiv.org/con.../10.1101/2024.08.13.24311951v1