กรมอนามัย-กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน-กรมวิทยาศาสตร์บริการ MOU จัดการน้ำดื่มโรงเรียนในพื้นที่โครงการพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ หลังเกิดปัญหาการปนเปื้อนทางด้านแบคทีเรีย เหตุจากระบบน้ำที่ไม่มีการฆ่าเชื้อโรค เผย พบโรงเรียนที่มีการจัดการน้ำบริโภคที่ถูกสุขลักษณะเพียง 10%
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมด้วย นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ร่วมกัน เพื่อจัดการน้ำดื่มโรงเรียนในพื้นที่โครงการพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติ โดยมี นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย นางจิรวรรณ สุตสุนทร รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนางพจมาน ท่าจีน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากทั้ง 3 หน่วยงาน ร่วมงาน ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ กรมอนามัย
พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักในการอภิบาลระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี โดยเฉพาะการเฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 902 แห่ง จากข้อมูลการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในโรงเรียน ยังพบปัญหาการปนเปื้อนทางด้านแบคทีเรีย ซึ่งเกิดจากระบบน้ำที่ไม่มีการฆ่าเชื้อโรค และโรงเรียนที่มีการจัดการน้ำบริโภคที่ถูกสุขลักษณะ เพียงร้อยละ 10 ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งปรับปรุง แก้ไข เพื่อความสะอาด ปลอดภัย และคุณภาพชีวิตที่ดีของนักเรียนในถิ่นทุรกันดาร
“ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมาย กรมอนามัยจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายสนับสนุนการดำเนินงานตามทบบาทภารกิจของแต่ละหน่วยงาน เพื่อพัฒนารระบบสุขาภิบาลน้ำบริโภคของโรงเรียนในพื้นที่โครงการพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติ ให้นักเรียนได้เข้าถึงน้ำสะอาด ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ สำหรับการลงนามความร่วมมือในวันนี้ ถือเป็นการบูรณาการพัฒนาและจัดการคุณภาพน้ำอุปโภค น้ำบริโภค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่โรงเรียนในพื้นที่โครงการพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ แนวทาง มาตรฐาน หลักเกณฑ์ นวัตกรรม ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องด้านวิชาการเกี่ยวกับการจัดการคุณภาพน้ำอุปโภคและน้ำบริโภคให้สะอาดและปลอดภัย และสร้างความเข้าใจเพิ่มเติมกับครู เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำอุปโภคและน้ำบริโภค เพื่อเป็นการพัฒนาระบบผลิตน้ำอุปโภคและน้ำบริโภคในพื้นที่ทุรกันดารและพื้นที่เฉพาะทั่วประเทศ” พญ.อัจฉรา กล่าว
- 160 views