“สมศักดิ์” ประชุม รมต.สาธารณสุขอาเซียน “จีน-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น” ยันเดินหน้าใช้ "ดิจิทัล" สร้างความมั่นคงสุขภาพ รองรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข จับมือเกาหลีใต้ ยกระดับบริการด้วย AI ขอ "จีน" หนุนภูมิปัญญาการแพทย์อาเซียน พัฒนาหลักประกันสุขภาพร่วมญี่ปุ่น ผลักดัน "นวดไทย" ในอินโดนีเซีย
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (16th ASEAN Health Ministers and Related Meetings :AHMM) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวก 3 ครั้งที่ 10 (ASEAN Plus 3) ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น พร้อมประชุมแยกรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน - จีน, อาเซียน-เกาหลีใต้, อาเซียน-สหรัฐอเมริกา วาระพิเศษ, หารือทวิภาคีรัฐมนตรีสาธารณสุขไทย-ญี่ปุ่น และไทย-อินโดนีเซีย
โดยนายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า การประชุม ASEAN Plus 3 มีประเด็น "ความมั่นคงสุขภาพอาเซียนผ่าน Digital Innovation for cross-border health emergency in the new context post-pandemic" โดยตนได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงความขอบคุณในความร่วมมือการพัฒนาความมั่นคงด้านสุขภาพและการจัดการภาวะฉุกเฉินทางด้านสุขภาพและโรคอุบัติใหม่ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านสาธารณสุขฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) ซึ่งประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียนฯ (ACPHEED Secretariat Office) และศูนย์อาเซียนด้านการตอบโต้ภัยสุขภาพ โดยไทยจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และร่วมกันจัดการให้ข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งศูนย์ฯ บรรลุความสำเร็จ
ส่วนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขข้ามพรมแดน มั่นใจว่าอนาคตอันใกล้จะเห็นการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เชื่อมต่อกันเป็นระบบที่ใหญ่ขึ้น จากระดับประเทศเป็นระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมและรวดเร็ว ระบบสุขภาพมีความยืดหยุ่น ตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า สำหรับการประชุม ASEAN – จีน นั้น ได้ขอให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและจีน เพื่อช่วยกันพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพองค์รวม การรักษาภาวะสมดุลของร่างกายด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนที่แพร่หลายไปทั่วโลก และการใช้ภูมิปัญญาทั้งด้านยาสมุนไพร การนวด การประคบ และศาสตร์ด้านรักษาของแต่ละท้องถิ่นในประเทศสมาชิกอาเซียน (Traditional Medicine) รวมทั้งการพัฒนาวิจัยต่อยอด การผลิต และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาสมุนไพรให้มากขึ้นด้วย โดยขอให้จีนส่งเสริมและสนับสนุนภูมิปัญญาทางการแพทย์ของอาเซียน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในอาเซียนจำนวนมาก รวมทั้งบริการนวดไทยคุณภาพในจีนด้วย โดยไทยยินดีที่จะจัดการอบรมการให้บริการนวดไทยสุขภาพสำหรับผู้ประกอบการ
“ส่วนการประชุม ASEAN - เกาหลีใต้ ได้เน้นการพัฒนา Digital Health ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อยกระดับระบบบริการสุขภาพและสร้างสุขภาวะที่ดี โดยจะมีการทำงานรวมกันเพื่อการพัฒนาบุคลากร และการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านสุขภาพของประเทศสมาชิกอาเซียนและเกาหลีใต้ ให้สามารถยกระดับมาตรฐานการบริการด้านสุขภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) บนแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อสุขภาพ พร้อมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ตามมาตรฐานสากล ขณะที่การหารือกับญี่ปุ่น ได้ขอบคุณการสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่ยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์และการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่ประชาชน ซึ่งจะพัฒนาต่อในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในการรับบริการ ลดความแออัดและลดระยะเวลารอคอยการรักษา โดยเฉพาะโรงพยาบาลในเขตเมือง เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพและคุณภาพการบริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล“ รมว.สาธารณสุข กล่าว
นายสมศักดิ์ เปิดเผยต่อว่า สำหรับการหารือทวิภาคีกับอินโดนีเซีย ได้พูดคุยเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเรื่องมะเร็งครบวงจร ข้อกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการบริหารจัดการใช้สมุนไพร "กระท่อม" ในทางการแพทย์ที่มีศักยภาพใช้รักษาหลายโรค รวมถึงโรคเรื้อรัง เช่น อาการปวดเรื้อรัง ภาวะวิตก กังวล นอนไม่หลับ รวมถึงหารือเรื่อง "นวดไทย" ซึ่งชาวอินโดนีเซียให้ความสนใจอย่างมาก และมีสถานที่ให้บริการหลายแห่งในอินโดนีเซีย โดยไทยยินดีและพร้อมที่จะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการนวดไทยสู่การบริการนวดไทยคุณภาพ
- 156 views