ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเผยไทยเฝ้าระวัง ยังไม่พบฝีดาษวานรสายพันธุ์รุนแรงเชื่อมโยงแอฟริกากลาง ยืนยันไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ ขณะที่ผู้ป่วยสะสม 822 ราย ไม่มีรายงานเสียชีวิต เผย 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด เตือนสังเกตอาการ เร่งพบแพทย์

จากที่มีสถานการณ์ฝีดาษวานร ในแอฟริกากลาง พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จนมีข้อกังวลว่า เป็นสายพันธุ์ใหม่หรือไม่นั้น

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม นพ.วิชาญ บุญกิติกร ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค  ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า  ข้อมูลสายพันธุ์โรคฝีดาษวานรที่มีอยู่พบว่ายังไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ เป็นสายพันธุ์เก่าที่มีสายพันธุ์ย่อยอยู่ 2 สายพันธุ์  ส่วนสายพันธุ์ที่มีการรายงานข่าวออกมา ทางแอฟริกากลาง จากการดูข้อมูลสถานการณ์ฝีดาษวานรทั่วโลก แนวโน้มโรคไม่ได้สูงขึ้น ยังคงทรงตัว อย่างไรก็ตาม ไทยมีระบบเฝ้าระวังอยู่แล้ว ซึ่งยังไม่จำเป็นต้องกักตัว หรือตรวจเฉพาะผู้เดินทางมาจากแอฟริกากลางแต่อย่างใด แต่ยังคงใช้ระบบเฝ้าระวังเดิม โดยกรณีหน่วยบริการเจอผู้เดินทางที่มีอาการ และเข้ารับการรักษานั้น  ทุกรายจะต้องมีการรายงานเข้ามายังระบบส่วนกลาง โดยต้องมีการตรวจยืนยันสายพันธุ์โรคฝีดาษวานร ซึ่งล่าสุดยังไม่เจอสายพันธุ์ที่รุนแรง ที่เชื่อมโยงกับทางแอฟริกา

 “อาการยังคงเหมือนเดิม มีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ผื่นขึ้น มีตุ่มหนอง อยู่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์  ที่สำคัญไม่ได้ติดต่อง่าย ต้องสัมผัสแนบชิดจริงๆ กลุ่มเสี่ยงก็จะเป็นกลุ่มมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย แต่ไม่ได้ติดจากการหายใจแต่อย่างใด” นพ.วิชาญ กล่าว

ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยข้อมูลสะสมผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรจนถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2567 อยู่ที่ 822 ราย โดยตั้งแต่มกราคม 2567 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีการรายงานผู้ป่วยฝีดาษวานรสะสม 135 ราย  ซึ่งจำนวนผู้ป่วย ปี2567 หากเทียบกับ ปี 2566 ไม่ต่างกันมาก และขณะนี้ ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากฝีดาษวานร

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เป็นการรักษาตามอาการของผู้ป่วย  หากอาการไม่มากรับยากลับไปดูแลรักษาที่บ้าน แต่เน้นย้ำผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยจะต้องมีการเฝ้าระวังตัวเอง ภายในระยะเวลา 21 วัน ให้สังเกตอาการไข้ มีผื่น มีตุ่มหนองขึ้นตามร่างกาย  หากมีอาการเหล่านี้ต้องไปตรวจยืนยันที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน   แต่หากบางรายที่มีอาการหนักก็ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ส่วน ความรุนแรงของโรคฝีดาษวานรจัดให้อยู่ในกลุ่มโรคติดต่อเฝ้าระวัง ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย การติดต่อของโรคถือว่าไม่ติดต่อง่าย หากไม่ได้มีสัมพันธ์แนบชิดใกล้ชิด การรักษาหรือนอนในโรงพยาบาลไม่มีความจำเป็นจะต้องแยกกักกันโรคเหมือนโรคอันตรายอื่นๆ  แต่ต้องรายงานผู้ป่วยเข้าระบบ และผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยต้องเฝ้าระวังตัวเองด้วย

 

สถานการณ์ ฝีดาษวานร ในไทย 10 จังหวัดป่วยสูงสุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อฝีดาษวานร หรือ Mpox ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคยอดผู้ติดเชื้อตัวเลขสะสมถึงขณะนี้ที่ 822 ราย เป็นเพศชาย 97.45% เพศหญิง 2.55% อาการที่พบมากที่สุด คือ มีผื่น รองลงมีมีไข้ และปวดกล้ามเนื้อ จำนวนผู้ติดเชื้อแบ่งตามกลุ่มสัญชาติพบคนไทยมากที่สุด และผู้ติดเชื้อ 10 อันดับ มากที่สุด คือ กรุงเทพมหานครจำนวน 441 ราย รองลงมา ชลบุรีจำนวน 74 ราย  นนทบุรี 42 ราย สมุทรปราการ 31 ราย  ภูเก็ต 31 ราย ปทุมธานี 25 ราย  ระยอง 24 ราย  เชียงใหม่ 23 ราย  สงขลา 12 ราย  และขอนแก่น 12 ราย