ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วัยรุ่นเวียดนามรักษาที่ รพ.เพิ่มขึ้น จากสารพิษของบุหรี่ไฟฟ้า 13% นำยาเสพติดมาผสมในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หมอประกิต ชี้เริ่มสูบตั้งแต่อายุยังน้อย ส่งผลต่อสมอง-สุขภาพจิต นำสู่การใช้ยาเสพติดชนิดอื่น

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า มีรายงานจากศูนย์พิษวิทยาของโรงพยาบาล Hanoi’s Bach Mai ประเทศเวียดนาม ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านพบสถิติเด็กวัยรุ่นเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจากสารพิษของบุหรี่ไฟฟ้า จากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่า 100 ราย และข้อมูลจากทั่วประเทศเวียดนามพบผู้ป่วยที่มารักษาด้วยอาการที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เช่น โรคปอดอักเสบ ภูมิแพ้ และได้รับสารพิษกว่า 1,200 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาหลายเท่าตัว เมื่อแพทย์นำตัวอย่างบุหรี่ไฟฟ้าที่เด็กสูบมาตรวจ พบข้อมูลที่น่าตกใจคือ 13% มีการนำยาเสพติดมาผสมในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เช่น สารคานาบินอยด์สังเคราะห์ หรือ ADB-Butinaca ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามกฎหมายไทย รวมทั้งสารสกัดกัญชา และยาเสพติดอื่น ๆ ซึ่งการเสพสารเสพติดกลุ่มนี้มีอันตรายถึงชีวิต คือ หมดสติ ชัก อวัยวะภายในล้มเหลว สมอง หัวใจ ปอดไม่ทำงาน  

“ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาเวียดนามสอดคล้องกับข่าวในไทยที่มีการจับกุมพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ชาวเวียดนาม ที่คิดค้นสูตรยาเสพติดที่ใช้ผสมในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ขณะหนีมากบดานที่ประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เด็กและวัยรุ่นมักจะเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้า ไม่เสพติดและมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่แท้จริงแล้ว บุหรี่ไฟฟ้าทั้งเสพติดและอันตราย นอกจากบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดตัวเดียวกับบุหรี่ธรรมดาแล้ว บุหรี่ไฟฟ้ายังสามารถดัดแปลงเป็นอุปกรณ์เพื่อเสพสิ่งเสพติดอื่น ๆ อีก ดังนั้น จึงไม่ใช่อุปกรณ์ช่วยเลิกบุหรี่ แต่เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้เด็ก ๆ เริ่มสูบบุหรี่และสิ่งเสพติดอื่น” รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า หากพิจารณาในภาพรวม บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายมากกว่าบุหรี่มวน สถิติการป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้า และความสัมพันธ์ของวัยรุ่นเวียดนามที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ากับการใช้ยาเสพติดอื่น ๆ สนับสนุนความเห็นที่นักวิชาการหลายฝ่ายยืนยันมาตลอดเวลาว่า อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้มีเฉพาะทำให้เกิดโรคทางกาย ที่เกิดกับปอด หัวใจ และอวัยวะอื่น ๆ ตามที่บริษัทบุหรี่และเครือข่ายล็อบบี้ยิสต์ พยายามจำกัดวงให้ถกเถียงกันเฉพาะด้านสุขภาพกายเท่านั้น โดยไม่มีการพูดถึงอันตรายในเด็กที่เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่อายุน้อย ที่จะได้รับนิโคตินจำนวนมากไปทำอันตรายต่อสมองที่กำลังเจริญเติบโต เกิดการเสพติดนิโคตินตั้งแต่อายุน้อย ๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต การเรียนรู้ และยังนำเด็ก เยาวชนไปสู่การใช้ยาเสพติดชนิดอื่น ๆ ซึ่งกรณีของไทย การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนอายุน้อย จะยิ่งเพิ่มปัญหาความรุนแรงของยาเสพติดขึ้นไปอีก 

“ผลการสำรวจคะแนน PISA ของเด็กนักเรียนไทยตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง การห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าและปราบปรามผู้ที่ลักลอบขายตามช่องทางต่าง ๆ อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันและลดการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็ก ๆ จึงเป็นงานเร่งด่วนที่หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย เป็นหนี้ต่อสังคมที่ต้องดำเนินการ” ศ.นพ.ประกิต กล่าว