ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโนยบายควบภารกิจงานยาเสพติดไปอยู่ที่กรมสุขภาพจิต”  ซึ่งสัปดาห์หน้าจะดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเอกสาร ให้งานสามารถดำเนินการได้ เป็นไปตามการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีนั้น

(อ่านข่าว:สมศักดิ์ สั่งควบภารกิจยาเสพติด “กรมแพทย์ ไป กรมจิต” พร้อมเดินหน้ากองทุนฯ ใช้เงินยึดทรัพย์ป.ป.ส.)

 

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมหารือร่วมกันในการดำเนินการตามนโยบายนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องการควบรวมภารกิจจิตเวชและยาเสพติดระหว่างกรมการแพทย์และกรมสุขภาพจิต ว่า จากการประชุมที่ผ่านมาได้มีการรับนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว โดยหลักต้องการให้การทำงานเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือความเป็น Unity ในการบูรณาการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งทั้งกรมการแพทย์ และกรมสุขภาพจิต เห็นพ้องต้องกัน

“ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประชุมหารือไปเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในเรื่องของการดำเนินงานตามนโยบาย ทั้งเรื่องโครงสร้าง อำนาจการดำเนินงาน หรือฟังก์ชัน และอำนาจทางกฎหมาย ซึ่งต้องมีการหารือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และต้องมีการปรึกษากับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) และทางคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป” พญ.อัมพร กล่าว

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า  สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการ สธ. เน้นย้ำเรื่องนี้คือ ต้องเป็นประโยชน์ต่อการรักษาและดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด และต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงาน

เมื่อถามย้ำว่าผู้ปฏิบัติงานในส่วนของสถาบันธัญญารักษ์ ที่ดูแลเรื่องจิตเวชและยาเสพติด อาจเกิดความสับสนว่า ปัจจุบันภารกิจต้องเป็นอย่างไร พญ.อัมพร กล่าวว่า จากเดิมทีทั้งส่วนของสถาบันธัญญารักษ์ สังกัดกรมการแพทย์ และการดูแลจิตเวชต่างๆ โดยรพ.สังกัดกรมสุขภาพจิตนั้น ก็มีการดูแลผู้ป่วยทั้งกลุ่มสีส้มและสีแดง ส่วนสีเขียว หรือสีที่จางลงมา เรียกว่ากลุ่มอาการน้อยลงก็จะเป็นการดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน ก็จะเป็นของโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) ที่มีหอผู้ป่วยจิตเวชในการดูแล ดังนั้น กลไกการรักษายังเดินหน้า เพียงแต่ทิศทางเชิงนโยบาย ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ มีการสั่งการจากปลัดกระทรวงฯ ให้กรมสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานหลักเรื่องยาเสพติดและจิตเวช ส่วนกรมการแพทย์มีบทบาทสนับสนุน เชิงรักษา รับส่งต่อ ฝึกอบรม เป็นต้น เพื่อให้ผลลัพธ์ในระบบดียิ่งขึ้น

“ขอย้ำว่า ผู้ป่วยจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แต่ต้องได้ประโยชน์จากนโยบายการควบรวมหน้าที่ในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด เพราะนี่เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งในฐานะเป็นอธิบดีกรมการแพทย์ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วย และบุคลากรเช่นกัน” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

เมื่อถามกรณีงบประมาณมีความชัดเจนหรือไม่ว่า หากโอนภารกิจจิตเวชและยาเสพติดไปยังกรมสุขภาพจิต จะต้องจัดสรรงบฯอย่างไร พญ.อัมพร กล่าวว่า เรื่องงบประมาณของกลุ่มรพ.ยาเสพติด  คือ กลุ่มโรงพยาบาลธัญญารักษ์ โดยหลักการจะได้รับงบบูรณาการ ซึ่ง ป.ป.ส. จะเป็นแกนในการเสนอของบประมาณทุกปี และจะมีการจัดสรรตามรายหัวของผู้ป่วย เช่น รพ.ธัญญารักษ์ อุดรธานี รักษาได้ 3 พันคน ก็จะต้องคูณตามรายหัว หรือรพ.จิตเวชนครพนม รักษาเท่าไหร่ ก็คูณไป โดยปกติมักจะมีผู้ป่วยมากกว่าการจัดสรร และต้องอาศัยงบกลางสนับสนุนเป็นระยะๆ

“หากในอนาคตเรื่องรักษาพยาบาลอยู่ที่กรมสุขภาพจิตทั้งหมด ก็ต้องรับคนไข้ทั้งหมด ดังนั้น งบประมาณตรงนี้ ทางป.ป.ส.ก็จะจัดสรรให้กรมสุขภาพจิต จากนั้นกรมสุขภาพจิตก็จะจัดแบ่งให้พื้นที่เกี่ยวข้องของเครือข่าย ทั้งนี้ ยังมีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด(สลบ.) กระทรวงสาธารณสุข ดูแลอยู่ด้วยเช่นกันในเรื่องงบฯ มินิธัญญารักษ์ งบCBTx หรือชุมชนล้อมรักษ์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในงบฯของกรมการแพทย์” พญ.อัมพร กล่าว

ถามกรณีข้อห่วงใยของ “บุคลากรในสถาบันธัญญารักษ์” กังวลว่าจะต้องย้ายไปอยู่กรมสุขภาพจิต จะมีผลต่อการปฏิบัติงานอย่างไร พญ.อัมพร กล่าวว่า ปลัดกระทรวงฯ มีนโยบายชัดเจนว่า ต้องไม่ให้บุคลากรเดือดร้อน ไม่ให้กระทบระบบการทำงาน การเลือกความพร้อมในการปฏิบัติงานก็ต้องได้รับการดูแล

พญ.อัมพร กล่าวว่า  กรมการแพทย์  ยังพิจารณาถึงการพัฒนาตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีในกรณีหน่วยที่มีความซ้ำซ้อนในจังหวัดเดียวกัน เช่น จ.เชียงใหม่ มีรพ.สวนปรุง และมีธัญญารักษ์เชียงใหม่ ในจังหวัดเดียวกันมี 2 รพ.  อาจต้องหารือกันว่า เมื่อโยกภารกิจไปแล้ว โยกกำลังคนที่มีความถนัด และมีความประสงค์ทำหน้าที่ต่อในรพ.จิตเวชแล้ว หน่วยงานที่คงเหลืออยู่จะมาตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่อย่างไร เช่น เชียงใหม่มีความพร้อมรักษาจิตเวชยาเสพติดที่สวนปรุงแล้ว ทางธัญญารักษ์เชียงใหม่ อาจปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่อย่างไร ยกตัวอย่าง ทำเป็นศูนย์ผู้สูงอายุ การฟื้นฟู หรือบางกลุ่มโรคที่ยังไม่มีหน่วยงานภูมิภาค เช่นกลุ่มโรคทรวงอก กลุ่มเด็ก สายฟื้นฟูต่างๆ อย่างปัจจุบันสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ที่มีแต่ส่วนกลาง ก็ต้องมาพิจารณาถึงการขยายสู่ภูมิภาคด้วย โดยท่านปลัดฯ ได้สั่งการให้กองกฎหมายไปหาวิธีการที่ถูกต้อง และการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดยังต้องมีการหารือรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างรวดเร็ว

 “กรมการแพทย์สนับสนุนเต็มที่ การมีความเป็นหนึ่งเดียวของนโยบายยาเสพติด จะเป็นประโยชน์ต่อคนไข้..” พญ.อัมพร กล่าวทิ้งท้าย

อนึ่ง ปัจจุบันกรมการแพทย์ ดูแลหน่วยบริการการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดฯ ประกอบด้วย สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี(สบยช.) จ.ปทุมธานี(รพ.ธัญญารักษ์เดิม)   และธัญญารักษ์อีก 6 แห่ง คือ ธัญญารักษ์เชียงใหม่ ธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน ธัญญารักษ์ขอนแก่น ธัญญารักษ์อุดรธานี ธัญญารักษ์สงขลา และธัญญารักษ์ปัตตานี