สสส.ชี้เด็กไทยเผชิญปัญหาภัยคุกคามบนสื่อออนไลน์ที่แสวงหาผลประโยชน์ 3 ล้านคน ถูกชวนเล่นพนันออนไลน์ ในจำนวนนี้ 1.4 ล้านคน เสี่ยงกลายเป็นนักพนันหน้าใหม่ ซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง ใช้ยาเสพติด สานพลัง สสดย. ประกาศยกย่องสุดยอดผู้นำ- องค์กรต้นแบบ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้-การรู้เท่าทันสื่อ ปี 67
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่นโฮเทล จ.นนทบุรี นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานประกาศรางวัลดีเด่นด้านการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการรู้เท่าทันสื่อ ประจำปี 2567 จัดโดย สสส. ร่วมกับ สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ว่า โลกยุคดิจิทัล เด็กและเยาวชนกำลังเผชิญปัญหากับภัยคุกคามบนสื่อออนไลน์ที่แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ เกม พนัน และการโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มเยาวชนอย่างชัดเจน สสส. จึงได้มุ่งเป้าสนับสนุนให้เกิดนักสื่อสารสุขภาวะในกลุ่มเด็ก เยาวชน ครอบครัว และกลุ่มเปราะบาง พัฒนากลไกเฝ้าระวังสื่อที่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคม ยกระดับนวัตกรรมการสื่อสารให้เกิดระบบสื่อสุขภาวะ และสุขภาวะทางปัญญาครอบคลุมทุกพื้นที่ สร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความสำคัญของรู้เท่าทันกับสถานการณ์โลกยุคดิจิทัล
“สสส. ร่วมกับ สสดย. สรรหาบุคคล และองค์กรต้นแบบที่ประกาศเจตนารมณ์ต่อสังคมอย่างชัดเจนด้านการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการรู้เท่าทันสื่อ การประกาศรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติทั้งประเภทบุคคลต้นแบบ และองค์กรต้นแบบ จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคีในการร่วมกันขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการใช้สื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ เกิดความตระหนักนำไปสู่การกำหนดนโยบาย วางแผน และออกแบบกิจกรรมในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการรู้เท่าทันสื่อให้แก่เด็กและเยาวชน และบุคคลแวดล้อมรอบตัวเด็ก ตัดโอกาสผู้กระทำผิด ช่วยปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการอยู่ในโลกออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย และเกิดสังคมสุขภาวะ (Healthy Communication promotes Healthy Society) ที่เข้มแข็งและยั่งยืน” รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) กล่าวว่า สื่อออนไลน์ในปัจจุบันถูกใช้เป็นเครื่องมือของอาชญากรในการหลอกลวง และนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในเรื่องยาเสพติด เหล้า พนัน และความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ก่อให้เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน จากผลสำรวจพฤติกรรมพนันออนไลน์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ปี 2566 โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 15-25 ปี จำนวน 3,418,000 คน จากทั่วประเทศ พบเด็กไทยถูกชักชวนผ่านสื่อออนไลน์ให้เล่นพนันออนไลน์ 3 ล้านคน ในจำนวนนี้ถึง 1.4 ล้านคน เสี่ยงกลายเป็นนักพนันหน้าใหม่ นำไปสู่โรคติดพนัน เพราะการเล่นพนันมีผลโดยตรงต่อสมองของเด็ก เสี่ยงต่อการป่วยซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ที่สำคัญยังมีความเสี่ยงใช้สารเสพติดสูงกว่าคนไม่เล่นการพนันถึง 5 เท่า ที่น่าตกใจ เด็ก 97% ระบุว่า เคยพบเห็นบุคคลในครอบครัว เพื่อน คนใกล้ชิด เล่นพนันออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีการแชร์ บอกต่อ หรือชักชวนให้ร่วมเล่นพนันอีกจำนวนมาก
“วันนี้มีผู้ได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติประเภทบุคคลต้นแบบ 6 คน จากผู้สมัคร 50 คน และองค์กรภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ที่ขับเคลื่อนด้านการสร้างสรรค์การสื่อสารสุขภาวะต้นแบบ 15 แห่ง จากภาคี100 แห่ง ที่จะมาเป็นพลังสำคัญร่วมสร้างแรงบันดาลใจ ร่วมขับเคลื่อนให้หน่วยงาน และภาคประชาสังคม สนับสนุนการใช้สื่ออย่างมีสุขภาวะ ส่งเสริมการสร้างคุณค่า หรือนวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และสร้างการรู้เท่าทันเพื่อให้ผู้ใช้สื่อรับมือกับภัยออนไลน์หลากหลายรูปแบบได้อย่างปลอดภัยขับเคลื่อน” ดร.ธีรารัตน์ กล่าว
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า สช. มีภารกิจสำคัญคือ การพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วม จึงได้สานพลังกับ สสส. และ สสดย. ขับเคลื่อนสังคมด้านสุขภาวะ โดยเฉพาะในประเด็นด้านการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งถูกกำหนดอยู่ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ปี 2551 มติที่ว่าด้วย ผลกระทบของสื่อต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ทั้งนี้ การยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลและองค์กรต้นแบบที่ขับเคลื่อนด้านการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการรู้เท่าทันสื่อ จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการประเมินผลในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะที่เกี่ยวข้องกับสื่อในสังคมไทย ที่ สช.สานพลังร่วมกับภาคีขับเคลื่อนมากว่า 10 ปี และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ทำงานด้านนี้เพื่อให้มีขวัญและกำลังใจที่จะสืบสานการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ การรู้เท่าทันสื่อ และการสื่อสารอย่างมีสุขภาวะต่อไป
- 792 views