อึ้ง! เด็กไทยรู้ว่าเสี่ยงแต่ขอลอง พบเล่นพนันออนไลน์กว่า 2.9 ล้านคน สสส.-เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน-มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน สานพลังสร้างสังคมตระหนักรู้ No first time : พนันต้องไม่มีครั้งแรก ห่วง 40% นิยมเสี่ยงเหล้า-บุหรี่-พนัน-อุบัติเหตุ เร่งสร้างภูมิคุ้มกันเด็ก-เยาวชนรู้ทันปัจจัยเสี่ยง

 

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2566 ที่ จามจุรีสแควร์ สามย่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดกิจกรรม “No first time : พนันต้องไม่มีครั้งแรก” เปิดผลสำรวจประสบการณ์เสี่ยงครั้งแรกที่ติดใจครั้งต่อไปที่อยากเลิกของเด็กเยาวชน นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่าพฤติกรรมติดการพนันเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ที่คล้ายกับการติดสารเสพติดสถานการณ์พนันในปัจจุบัน เล่นได้ง่าย สะดวก ทุกที่ทุกเวลา การพนันไม่ว่าจะเป็นรูปแบบออนไลน์ หรือออฟไลน์ ก็สามารถเสพติดได้ง่าย เมื่อเสพติดพนันก็ส่งผลกระทบต่อตนเอง และผู้อื่น ขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เกิดความเครียดเสียสุขภาพจิต เสียการเรียน จึงควรสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากการติดพนัน ซึ่งในกลุ่มเด็กมีความเสี่ยงติดได้ง่ายกว่าวัยอื่น แต่ก็สามารถรักษาได้ ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจ เพราะครอบครัวคือกำลังใจสำคัญที่จะช่วยเหลือ สนับสนุน ให้ก้าวข้ามการเสพติดพนันได้

นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ รักษาการ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 15-25 จาก 19 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 5,010 ตัวอย่าง ระหว่างเดือน ม.ค. – ก.พ. 2566 ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า เล่นพนันออนไลน์กว่า 2.9 ล้านคน ในจำนวนนี้มีถึง 1.4 ล้านคน เสี่ยงเป็นนักพนันที่เป็นปัญหา และเป็นผู้เล่นหน้าใหม่สูงถึง 700,000 คน เล่นพนันผ่านช่องทางมือถือมากถึง 98.7% แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์พนันในเด็ก และเยาวชนส่งสัญญาณอันตราย โดยเฉพาะพนันออนไลน์ที่เด็กเยาวชนมีโอกาสเป็นผู้เสพติดพนันสูงกว่าผู้ใหญ่ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อสร้างความตื่นตัว เน้นย้ำให้สังคมตระหนักว่า “พนันเป็นสิ่งเสพติด” ยิ่งเล่นยิ่งติด และต้องไม่มีครั้งแรกสำหรับพนัน

“กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการจุดประกายให้เด็ก และเยาวชนตระหนักถึงพิษภัยของพนัน ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายที่จัดขึ้น เช่น ฐานกิจกรรมเรียนรู้ เอ๊ะ อ๊ะ โอ๊ะ !!! อะไรคือพนัน ติดพนันมีอาการอย่างไร และทักษะการปฏิเสธไม่พนัน คลิปรณรงค์ “ต้องไม่มีครั้งแรก” เวทีเสวนา “ดีที่สุด อย่ามีพนันครั้งแรก” ที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์เสี่ยงพนันครั้งแรก พร้อมเปิดผลสำรวจประสบการณ์เสี่ยงพนันครั้งแรกที่ติดใจ ครั้งต่อไปอยากเลิกจากเด็กและเยาวชน เปิดพื้นที่ให้เครือข่ายเด็ก และเยาวชนได้แสดงความสามารถ ซึ่งในวันที่ 20 กันยายน ซึ่งเป็น “วันเยาวชนแห่งชาติ” ขอให้เด็ก และเยาวชนเกิดความตระหนัก รู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อการพนัน และเป็นกำลังสร้างสรรค์ สร้างประโยชน์ต่อสังคม” นางก่องกาญจน์ กล่าว

น.ส.วศิณี สนแสบ ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน กล่าวว่า วันที่ 1-10 ก.ย. ที่ผ่านมา เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนันร่วมกับเครือข่ายรณรงค์หยุดพนันได้ทำสำรวจเด็ก และเยาวชนไทย อายุระหว่าง 13-25 ปี จำนวน 1,200 คน ใน 17 จังหวัดจากทุกภาคของประเทศ เกี่ยวกับประสบการณ์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาต่อปัจจัยเสี่ยง อุบัติเหตุ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พนัน การสูบบุหรี่หรือสารเสพติด พบว่า 40% เคยมีประสบการณ์อย่างน้อยหนึ่งเรื่อง มากที่สุดคือ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 21.3%  รองลงมาเป็นอุบัติเหตุ มีพฤติกรรมขับขี่โลดโผน 17.7% เล่นพนัน 15.3% สูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติด 12.2% ซึ่งพนันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้รู้สึกติดใจในครั้งแรก ๆ แต่ในครั้งต่อไปอยากจะเลิก เพราะเหตุผลเรื่องสุขภาพ ร่างกายทรุดโทรม พักผ่อนไม่เพียงพอ เครียด การเงินที่ไม่มีพอจับจ่ายใช้สอย ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ทะเลาะกับคนใกล้ตัว และการถูกลงโทษทางวินัย รวมถึงการถูกข่มขู่และถูกทำร้ายร่างกาย 

“เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน ขอเสนอแนวทางต่อรัฐบาลชุดใหม่ ให้จริงจังต่อการปกป้องเด็กและเยาวชนจากพนัน เริ่มต้นจากสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่ให้มีการจำหน่ายสลากฯ แก่เด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี 100% ให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนภูมิรู้สู้พนันแก่เด็ก เยาวชน และพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยการแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งที่แน่นอน อาจไม่เกิน 1-5 % จากกิจการพนันถูกกฎหมายที่รัฐกำกับดูแลอยู่ เช่น รายได้จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล มาตั้งเป็นกองทุนส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างภูมิรู้สู้พนัน เพื่อพัฒนานวัตกรรม และการสร้างโอกาสการเรียนรู้ต่าง ๆ แก่เด็ก เยาวชน และครอบครัว สร้างสังคมปลอดภัยจากการพนัน” น.ส.วศิณี กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : น่าห่วง! ผลสำรวจพบคนไทยเป็นโรคติดการพนันเพิ่มขึ้น ใช้สารเสพติดมากขึ้น

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org