เปิดความเห็นประธานอสม. 3 จ. ภาคกลาง ต่อ "ร่างพรบ.อสม." ชี้อายุ 70 ปี ควรทำงานต่อได้ แต่เข้มงวดเรื่องการประเมินสมรรถนะ ทั้ง สุขภาพทางกาย-จิตใจ-ความรู้ เพื่อสามารถดูแลปชช.ได้เต็มศักยภาพ ส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นสำคัญ เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์กร
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 67 ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. .... ภาคกลาง โดยมี นายอมรินทร์ นิ่มนวล ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) จ.ชลบุรี นางวิศัลย์สิริ ตันตระกูล ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (อสส.) และ นายจำรัส คำรอด ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) จ.ฉะเชิงเทรา เข้าร่วมด้วย
นายอมรินทร์ นิ่มนวล ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) จ.ชลบุรี เผยว่า เห็นด้วยกับ "ร่างพ.ร.บ.อสม." เนื่องจากว่าพระราชบัญญัติที่มากํากับดูแลอสม.เกิดจากการทําประชาพิจารณ์ของอสม.เอง เพราะฉะนั้นกฎหมายที่ออกมาเป็นความต้องการของอสม.โดยแท้จริง ในเรื่องการกําหนดอายุตอนนี้แบ่งเป็นสองฝ่าย บางคนเห็นด้วยบางคนไม่เห็นด้วยแต่ส่วนตัวเห็นด้วย เนื่องจากปัจจุบันอสม.ไม่ได้เป็นชมรมที่โดดเดี่ยว เรามีสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งประเทศไทยที่เชื่อมต่อในระบบเรื่องการทํางาน เพราะสมาคมฯ รับสมาชิกที่เป็นอสม.ที่ได้รับเงินค่าป่วยการแล้วเข้าในระบบแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่กําหนดอายุในเรื่องของการเสียชีวิต อย่างอสม.ที่อายุเยอะแล้วไม่ใช่ว่าจะต้องเสียชีวิตเสมอไป แต่ส่วนใหญ่มีความเสี่ยงจะต้องเสียชีวิต เพราะฉะนั้นมันก็มีผลกระทบกับ สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งประเทศไทย
"การกําหนดอายุ ในพรบ.อสม.เป็นการพัฒนาองค์กรระดับหนึ่ง เมื่อถามว่าคําว่าจิตอาสาจริงๆแล้วจะต้องไม่มีการกําหนดอายุ ไม่มีการกําหนดในเรื่องความรู้ แต่ไม่กําหนดเรื่องพื้นฐานความรู้ว่าจะต้องจบชั้นไหน ขอให้อ่านออกเขียนได้ แต่เนื่องจากว่ามีการพัฒนาในโลกการศึกษา เพราะฉะนั้นก็อยากให้อสม.ที่จะเข้ามาต้องจบการศึกษาขั้นพื้นฐานก่อน เพราะปัจจุบันอสม.จะต้องมีการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีความรู้เรื่องเทคโนโลยี และการทํางานต่างๆต้องทันยุคทันสมัย เพราะฉะนั้นในเรื่องของพรบ.จะกําหนดบทบาทในเรื่องของสิทธิที่อสม.พึงจะได้รับกับหน้าที่อสม.พึงต้องปฏิบัติตามกฎกติกา เราเห็นว่าในเมื่อมีพ.ร.บ.ที่เกิดจากความต้องการของอสม.จริงๆ ในเรื่องการพัฒนาจะได้มาตรฐานในการทํางาน เราคิดว่ามันเป็นผลดีที่จะมีพ.ร.บ.ควบคุม" นายอมรินทร์ กล่าว
นายอมรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับการที่จะให้ อสม. 70 ปี เกษียรอายุไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าการที่อสม.ยิ่งมีอายุเยอะแล้วเป็นอสม.อยู่ด้วย คิดว่าสุขภาพจิตคงดี แต่ถ้าสมมุติว่าสักวันหนึ่งร่างกายเขาสมบูรณ์แข็งแรงไล่ออกเลย อาจมีผลกระทบในเรื่องสุขภาพ อยากตัดปัญหาในเรื่องของอายุอยากให้มีการประเมินในเรื่องสุขภาพมากกว่า มองว่าอย่างน้อยอสม.เป็นแกนนําในเรื่องสุขภาพ เพราะฉะนั้นในเรื่องของความซื่อสัตย์ในตัวเองก็อยากให้มีการประเมินสุขภาพตัวเองว่าเมื่ออสม.ทํางานไม่ไหวสมควรที่จะต้องหยุดพักผ่อน คิดว่าอสม.ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ว่าเมื่อถึงเวลาพักผ่อนก็ต้องพักผ่อนก็จะไม่ขอรับค่าป่วยการแล้ว และอาจจะให้ลูกหลานที่อยู่ในเขตพื้นที่มาเป็นแทน ซึ่งถือว่าเป็นการตอบแทนในการที่เป็นอสม.มานานแล้วให้ลูกหลานรับช่วงต่อไปในอนาคต
"อยากให้ พ.ร.บ.อสม. ปรับปรุงเพิ่มเติมในเรื่องขององค์กรที่จะรับผิดชอบ อาทิ กองทุนสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของอสม. รวมทั้งในเรื่องอนาคตว่าอสม.เมื่อระบบเกษียณแล้วภาครัฐจะดูแลอย่างไรก็ต้องใช้เงินกองทุน ซึ่งเงินกองทุนจะเป็น พ.ร.บ. อีกอย่างนึง เพราะฉะนั้นต้องใช้เวลาที่จะแก้ไขต่อไป นอกจากนี้เรื่องการจบการศึกษาขั้นพื้นฐานก็สำคัญ เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์กร ถ้าได้คนที่มีความรู้เข้ามาการพัฒนาองค์กรจะง่ายขึ้น" นายอมรินทร์ กล่าว
ด้าน นางวิศัลย์สิริ ตันตระกูล ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (อสส.) เผยว่า การที่มี พ.ร.บ.อสม.เป็นเรื่องที่ดีควรมีมาตั้งนานแล้วด้วยซ้ำ เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.อสม. ทุกข้อ แต่กรณีเรื่องการกำหนดอายุ 70 ปีมองว่าไม่ควรกำหนดอายุ เพราะอสม.อายุ 70 ปี บางคนยังทำงานได้อยู่ก็ต้องให้ทำไป ถ้าทำไม่ได้ไม่มีสิทธิ์ที่จะรับ 2,000 บาทอยู่แล้ว โดยจะพ้นสภาพการเป็นอสม.อัตโนมัติด้วยสังขาร ในเมื่อไม่สามารถออกไปปฏิบัติหน้าที่ใน 3 เดือนหรือ 6 เดือน เขาก็พ้นสภาพอยู่แล้ว และอาจจะเลื่อนสถานะไปเป็น อสม.กิตติมศักดิ์หรืออื่นๆตามร่างพ.ร.บ.ที่กำหนดไว้ สำหรับเกณฑ์การรับอสม.ใหม่ต้องมีอยู่แล้ว เนื่องจากตอนนี้ในพื้นที่เอง ไม่ว่าจะเป็นคนทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ทุกเหล่า อยากจะเข้ามาตรงนี้เนื่องจากมีค่าป่วยการ 2,000 บาท รวมทั้งมีสิทธิต่างๆ ซึ่งบางครั้งการเมืองหรือท้องถิ่นท้องที่ก็ให้ญาติมาเป็นอสม. ซึ่งไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อยากให้ชาวบ้านสมัครใจเข้ามาเอง
" อยากให้อสม.ที่เข้ามาใหม่ ต้องมีความคล่องตัวหรือความรู้ความสามารถในเรื่องเทคโนโลยีพอสมควร เพราะเนื่องจากตอนนี้โลกได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนสมัยก่อนซึ่งสมัยก่อนระบบการสื่อสารยังไม่ค่อยมีจะหากันก็เขียนจดหมาย 7 วันกว่าจะถึง ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่ตอนนี้เป็นสื่อโซเชียล สามารถติดต่อประสานงานกันได้เลยผ่านหลายช่องทาง ฉะนั้นอสม.ยุคใหม่ต้องมีความรู้ให้ทันตามยุคตามสมัย ไม่ได้กีดกันว่ารุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ แต่ต้องเข้ามาตามกติกา เพราะทุกวันนี้เข้ามาด้วยจิตอาสาหรือใจรักมีน้อยมาก ส่วนมากเข้ามาเพื่อที่จะรับสวัสดิการจากกระทรวงสาธารณสุข เช่น สวัสดิการการรักษาพยาบาล รวมทั้งตอนนี้ อสม.มีสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ที่เข้ามาช่วยเหลือเยียวยา สำหรับครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย " นางวิศัลย์สิริ กล่าว
ขณะที่ นายจำรัส คำรอด ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) จ.ฉะเชิงเทรา เผยว่า ส่วนตัวไม่อยากให้มีการเกษียณอายุอสม. 70 ปี อยากให้ทำงานไปจน ไม่สามารถทำงานได้ และให้อสม.แสดงตนขอหยุดปฏิบัติหน้าที่เอง เพราะความเป็นจิตอาสาเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว อยากให้ร่างพ.ร.บ.อสม.ที่ออกมาไม่จำเป็นต้องกำหนดอายุ และสำหรับคนที่จะเข้ามาเป็นอสม.ใหม่ ยากให้ยึดหลักคุณธรรมจริยธรรมด้วย อยากให้กฎหมายเข้มงวดเรื่องนี้เพราะหากมาเป็นแล้วไม่อยากทำให้องค์กรเสียหาย เสียชื่อเสียง อีกทั้งมีเรื่องการประเมินสมรรถนะของอสม.ซึ่งข้อนี้สำคัญ เพราะทำให้อสม.สามารถดูแลประชาชนในพื้นที่ได้ไม่บกพร่องและเต็มศักยภาพ
"เห็นด้วยกับ ท่านรมว.สมศักดิ์ ที่จะมีการเอาเนื้อหาในส่วนเกษียณอายุ 70 ปีตัดออก เพราะทุกคนตั้งใจที่จะมาทำงานจิตอาสาและมาเป็นอสม. กันทุกคน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ "พ.ร.บ.อสม." จะออกมาอย่างไรก็ต้องทำตามกติกาหรือกฎหมายต่อไป" นายจำรัส กล่าว
- 277 views