นักวิชาการกังขา สภาฯ ดูงานบุหรี่ไฟฟ้าจีน ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ เรียกร้องสังคมจับตา กมธ.เอาข้อมูลบริษัทบุหรี่มาอ้างยกเลิกแบนบุหรี่ไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2567 ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า จากการที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เดินทางไปดูงานเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 26-29 มิ.ย. 2567 พบว่า มีกรรมาธิการที่ร่วมเดินทางไปท่านหนึ่งได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลการไปดูงานผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า มีการไปดูงานโรงงานผลิตบุหรี่ไฟฟ้า 2 แห่งที่ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าให้กับบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ และยังมีการเข้าประชุมร่วมกับสภาหอการค้าบุหรี่ไฟฟ้าจีน หรือ Electronic Cigarette Professional Committee of the China Electronic Commerce Association (ECCC) และได้ข้อมูลจากการดูงานว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายเพียง 3% หรือบุหรี่แบบ heat not burn อันตรายเพียง 50% ของบุหรี่ธรรมดา
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้สังคมกำลังตั้งคำถามกับความเป็นกลางของ กมธ.ชุดนี้ที่มีการไปประชุมพูดคุยกับหน่วยงานที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทบุหรี่ และมีความกังวลว่าจะนำข้อมูลที่เครือข่ายบริษัทบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามาพิจารณาเป็นข้ออ้างเพื่อนำมายกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เช่น การกล่าวอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดานั้น ไม่มีการอ้างอิงข้อมูลทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ หากคณะกรรมาธิการฯ หลงเชื่อและเอาข้อมูลนี้มาอ้างเพื่อยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยคงเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะงานวิจัยใหม่ๆ เช่นที่เพิ่งตีพิมพ์ใน the New England Journal of Medicine วารสารทางการแพทย์อันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งมีการทบทวนงานวิจัยทั่วโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ถึง ตุลาคม พ.ศ. 2566 รวมทั้งสิ้น 107 งานวิจัย ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายไม่น้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา โดยเฉพาะอันตรายต่อปอด และหัวใจ นอกจากนี้ยังพบว่าฤทธิ์การเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าน่ากลัวกว่าบุหรี่ธรรมดาโดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน เพราะมีปริมาณนิโคตินที่สูงกว่าและเสพติดง่ายกว่า
ด้าน ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ แก้วสุทธา คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เครือข่ายวิชาชีพทันตแพทย์ต้านภัยยาสูบ ตั้งข้อสังเกตว่าหน่วยงานที่คณะกรรมาธิการฯ ไปดูงานล้วนแต่เป็นฝ่ายที่เกี่ยวข้องและมีผลประโยชน์ร่วมกับธุรกิจบุหรี่ทั้งสิ้น เช่น สภาหอการค้าบุหรี่ไฟฟ้าจีน เป็นหน่วยงานที่มีบริษัทบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสมาชิก จากข้อมูลพบว่า เมื่อเดือนกันยายน 2566 หน่วยงานนี้ยังร่วมกับองค์กรสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้านานาชาติอีก 3 แห่ง ก่อตั้ง เครือข่ายพันธมิตรบุหรี่ไฟฟ้านานาชาติ หรือ Global Vape Alliance ซึ่งองค์กรสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้านานาชาติเหล่านี้มีประวัติและความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่อย่างยาวนาน เช่น ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งเจ้าหน้าที่และบอร์ดบริหารหลายคนเคยทำงานให้กับบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ทั้ง PMI, BAT, JTI, และ Imperial
ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ กล่าวต่อว่า ในการดูงานประเทศจีนครั้งนี้ กรรมาธิการฯ คนนี้ยังอ้างว่ามีการพูดถึงกรณีที่ FDA สหรัฐอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการหลงเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่า ทั้งๆ ที่ความจริง FDA สั่งห้ามเด็ดขาดไม่ให้นำการอนุญาตนี้ไปอ้างแบบผิด ๆ ซึ่งหากเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ผู้อ้างจะถูกลงโทษอย่างหนัก แต่ก็พบว่า บริษัทบุหรี่มักนำไปอ้างแบบผิดๆ ในหลายประเทศนอกสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะประเทศกลุ่มรายได้น้อยและปานกลางที่มีกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า เช่น อุรุกวัย มีข้อมูลว่ารัฐมนตรีสาธารณสุขอุรุกวัยใช้ข้อมูลของบริษัทบุหรี่ที่อ้างว่า FDA สหรัฐอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อนหรือ heat not burn เพราะอันตรายน้อยกว่ามาสนับสนุนการยกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า
“การยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย สำคัญมากกับบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ บริษัทเหล่านี้จึงทุ่มเทกำลังมหาศาลเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ เพราะหากยกเลิกกฎหมายนี้ในประเทศไทยได้ บริษัทฯ จะนำไปอ้างกับประเทศอื่นๆ ที่ยังห้ามบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อให้ทำตาม เหมือนกับที่บริษัทบุหรี่นำอุรุกวัยไปอ้างกับประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาเพื่อให้ยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นรัฐบาล รัฐสภา และกมธฯ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบในเรื่องนี้เพราะนักวิชาการ และสังคมกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด” ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ กล่าวทิ้งท้าย
- 293 views