คกก.พิจารณาปรับปรุงหน้าที่ฯ กรมสุขภาพจิต มีปลัดสธ.เป็นประธาน ประชุมแล้ว 1 ครั้ง รับนโยบายรัฐบาลดูแล ‘ผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด’ ครบวงจร พร้อมบูรณาการร่วม “สถาบันธัญญารักษ์”  กรมการแพทย์ ทำงานเห็นผลทันที 1 เดือน จากนั้นรอขั้นตอนออกกฎกระทรวงฯ ความชัดเจน "คน เงิน ของ"  ส่วนเปลี่ยนชื่อกรม ยังไม่ใช่ตอนนี้

  

ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ลงนามในคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 999/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของกรมสุขภาพจิต เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเนื้อหาเป็นการเพิ่มอำนาจหน้าที่ของกรมสุขภาพจิตในการบำบัดดูแลผู้ป่วยยาเสพติดมากขึ้น และให้พิจารณาว่าสมควรต้องขยายชื่อกรมสุขภาพจิต เป็นกรมสุขภาพจิตและยาเสพติดหรือไม่นั้น

(ข่าว : สมศักดิ์ ตอบกระทู้ สส.ก้าวไกล หลังมองบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด ยังมีช่องโหว่)

เมื่อเร็วๆนี้  นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา ตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ(ซูเปอร์บอร์ด) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีเรื่องของการดำเนินการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดอยู่ด้วย ซึ่งต่อมานายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวในการประชุมเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ต้องดำเนินการบูรณาการเรื่องยาเสพติดอยู่ภายใต้กรมสุขภาพจิตด้วย เพื่อให้การทำงานครบวงจร เนื่องจากรมว.สธ.ได้ลงพื้นที่และมีคนสะท้อนปัญหาเรื่องการเข้าถึงการรักษาในแง่ยาเสพติดและจิตเวช ซึ่งเรื่องนี้สำคัญต้องทำให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาอย่างครบวงจร

นพ.พงศ์เกษม กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหายาเสพติดในแง่การบำบัดรักษาโดยเฉพาะยาบ้าที่ระบาดมากนั้น ต้องมีเรื่องจิตเวชด้วย เพราะเป็นเรื่องของ Biopsychosocial และ Behavioral science  ทั้งพฤติกรรมศาสตร์ ชีวจิตวิทยา และสังคม ต้องรวมๆกันทั้งหมด เห็นได้ว่าคนที่สุขภาพจิตไม่ดีบางทีไปเสพยา เสพการพนัน จนติดและก็ซ้ำร้ายทำร้ายคนอื่น และมีปัญหาสุขภาพจิตวนกันไปอีก จึงต้องมีกระบวนการรักษาทางพฤติกรรมและชุมชนที่ชัดเจน และเป็นไปแบบวันสต๊อป  ดังนั้น กรมสุขภาพจิตก็จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันกับทุกส่วนทั้งหมด

“สถาบันธัญญารักษ์ ในสังกัดกรมการแพทย์ มีเรื่องการบำบัดยาเสพติด  กรมสุขภาพจิตก็เช่นกัน อย่างยาบ้า  เรามุ่งประเด็นหลักบำบัดรักษา สิ่งสำคัญต้องทำงานร่วมกัน เรื่องนี้ยังเป็นนโยบายรัฐบาล ให้ทำทันทีภายใน 1 เดือน หลังประกาศนโยบาย ว่าต้องทำเชิงฟังก์ชันนัล(Functional) หมายถึงต้องดำเนินการสำเร็จลุล่วง โดยอาศัยพ.ร.บ.ระเบียบ บริหาร ราชการแผ่นดินฯ ตามมาตรา 20 ท่านรมว.สธ.มีอำนาจให้กองไหนมาขึ้นกับกรมไหนดูแล  และในระยะยาวประมาณ 3-4 เดือนก็ต้องมีการแก้ไขกฎกระทรวงตามมา เป็นไปตาม ก.พ.ร.กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลเรื่องนี้” นพ.พงศ์เกษม กล่าว

คกก.ประชุมแล้ว 1 ครั้ง ขับเคลื่อนแง่ฟังก์ชันนัล "คน เงิน ของ"

ผู้สื่อข่าวถามว่าหมายถึงสถาบันธัญญารักษ์ ต้องมาอยู่ในกำกับกรมสุขภาพจิตหรือไม่ นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงขึ้นนั้น ซึ่งในเชิงฟังก์ชันนัล เป็นการใช้พ.ร.บ.ระเบียบ ราชการแผ่นดินฯ ของรัฐมนตรีฯก่อน ซึ่งประธานในคณะกรรมการชุดนี้คือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมแล้ว 1 ครั้ง พร้อมตั้งคณะทำงานมาขับเคลื่อน

อย่างไรก็ตาม ช่วงฟังก์ชันนัล ยังเน้นการทำงานร่วมกันให้สำเร็จลุล่วง เพราะทุกอย่างเวลาจะดำเนินการอะไร จะมีเรื่อง “คน เงิน ของ”  เรื่องคน จะใช้พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนฯ เรื่องของ จะเป็นเรื่องงบประมาณ เป็นต้น ดังนั้น ต้องรอออกเป็นกฎกระทรวงชัดเจนอีกครั้ง เพื่อให้ชัดเจนเรื่อง คน เงิน ของ อีกครั้ง

หากเปลี่ยนชื่อกรมฯ ต้องออกพระราชกฤษฎีกา 

เมื่อถามว่าตามที่รมว.สาธารณสุขบอกก่อนหน้านี้ ให้พิจารณาขยายชื่อกรมสุขภาพจิต เพิ่มคำว่ายาเสพติดด้วยนั้น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความหมายคือ หากต้องการให้ประชาชนทราบว่า เรามีภารกิจเพิ่มขึ้น ก็อาจเป็นไปได้ที่จะใช้คำว่า “กรมสุขภาพจิตและยาเสพติด”

“จริงๆ คำว่า กรมสุขภาพจิต ตัวเนื้อแท้ มีการส่งเสริมป้องกัน การรักษาจิตเวชและยาเสพติดอยู่แล้ว ไม่ต้องปรับเปลี่ยนชื่อกรม ก็ทำได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องสื่อสารให้ประชาชนทราบให้ชัดเจนขึ้นว่า ภารกิจเรื่องการบำบัดรักษายาเสพติดอยู่ที่นี่แล้ว แต่การปรับชื่อก็จะช่วยให้คนเห็นชัดขึ้น เพียงแต่จะปรับชื่อก็ต้องออกพระราชกฤษฎีกา ก็จะใช้เวลา ดังนั้น ใช้กรมสุขภาพจิตไปก่อนก็ได้” นพ.พงศ์เกษม กล่าว

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

ผู้ป่วยจิตเวชพุ่ง! หลังโควิด แต่ 'จิตแพทย์' กลับขาดแคลน ล่าสุดเกือบ 7 ล้านคนเข้าไม่ถึงการรักษา

-“สมศักดิ์” มอบคกก.ที่มีปลัดสธ.เป็นประธานพิจารณาควรเปลี่ยนชื่อ “กรมสุขภาพจิต” หรือไม่

-“สมศักดิ์” ตั้งคณะกรรมการแก้ไขเพิ่มเติมภารกิจ “กรมสุขภาพจิต” ทำกฎหมายให้อำนาจบำบัดผู้ติดยาเสพติดครบวงจร