สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เตือนประชาชน  6 โรคผิวหนังที่ต้องระวังใน “หน้าฝน” คือ โรคเกลื้อน โรคกลาก โรคน้ำกัดเท้า โรคเท้าเหม็น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง และผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลง เหตุอาจเดินทางไปทำงานนอกบ้าน ทั้งโดนฝน ลุยน้ำ เสื้อผ้าเปียก ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคผิวหนังตามมาได้

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2567 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ฤดูฝนเป็นช่วงที่มีน้ำท่วมขัง ความชื้นในอากาศสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดโรคผิวหนังต่างๆ ตามมาด้วย โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อราหรือเเบคทีเรียที่เจริญเติบโตเเละก่อโรคได้ดีในสภาพอากาศเเละสิ่งเเวดล้อมในฤดูฝน ประชาชนควรหมั่นสังเกตตนเองอยู่เสมอ และควรป้องกันได้โดย 1. ควรอาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังจากโดนฝน 2. ควรล้างมือ ล้างเท้าหลังลุยน้ำ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด แล้วเช็ดให้แห้งอยู่เสมอ 3. สวมเสื้อผ้าที่สะอาดแห้งสนิทไม่อับชื้น 4. หากมีอาการผิดปกติทางผิวหนัง แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัยเเละการดูเเลรักษาที่ถูกต้องวิธี

พญ.ชนิศา เกียรติสุระยานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า  6 โรคผิวหนังที่มักพบในฤดูฝน ได้แก่ 1. โรคเกลื้อน มีลักษณะเป็นผื่นวงกลมหลายวง มีขุยละเอียด สีแตกต่างกัน เกิดบริเวณลำตัว เช่น หลัง หน้าอก ท้อง ไหล่ คอ ผู้ที่มีเหงื่อออกมากและใส่เสื้อผ้าที่อับชื้น 2. โรคกลาก มีลักษณะเป็นผื่นวงมีขอบเขตชัดเจน มีขุย เริ่มต้นด้วยอาการคัน ผื่นแดง ต่อมาจะลามเป็นวงออกไปเรื่อยๆ และมักจะคันมากขึ้น พบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น หนังศีรษะ รักแร้ ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้า

3. โรคน้ำกัดเท้า มีการระคายเคืองผิวหนังจากความอับชื้น เมื่อสัมผัสสิ่งสกปรกบริเวณที่มีน้ำท่วมขังหลังฝนตก ทำให้เกิดผื่นตามเท้าและซอกนิ้วเท้า บางรายอาจติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย 4. โรคเท้าเหม็น มีเชื้อแบคทีเรียบางชนิดบริเวณผิวหนังชั้นนอก มีอาการเท้าแห้งลอก เท้าจะมีกลิ่นรุนแรงมากกว่าปกติ มีหลุม รูพรุนเล็กๆ บริเวณฝ่าเท้าและง่ามเท้า

5. ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เนื่องจากอุณหภูมิและความชื้นของอากาศเปลี่ยนแปลงไป สังเกตจากผิวหนังมีผื่นแดง แห้งลอก มีอาการคันมากที่บริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา และซอกคอ 6. ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลง ฤดูฝนจะมีการเพิ่มจำนวนของแมลง เช่น ยุง หมัด ไร ด้วงก้นกระดก หากสัมผัสอาจเกิดเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้ และแนวทางการรักษาโรคผิวหนังที่มักพบในฤดูฝน ควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยอาจใช้ยารักษาตามชนิดของโรคและอาการที่พบ นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การรักษาได้ผลดีและป้องกันการเกิดโรคซ้ำได้
   

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์

 

พญ.ชนิศา เกียรติสุระยานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง