ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดประชุมวิชาการเครือข่ายห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ พัฒนาความรู้บุคลากรทางห้องปฏิบัติการ เขตสุขภาพ 4, 5 และ 6 เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาความรู้ด้านวิชาการให้กับบุคลากร สู่การเผชิญกับภาวะวิกฤตหรือโรคระบาดที่อาจเป็นภัยคุกคาม

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2567  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมวิชาการเครือข่ายห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 4, 5 และ 6 ประจำปี 2567 โดยมี นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี นางปานทิพย์ ศิริโชติ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม นางเกตุ สินเทศ ผู้อำนวยการ  ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี ผู้บริหารเขตสุขภาพที่ 4, 5 และ 6 บุคลากรทางห้องปฏิบัติการจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์อนามัย สำนักงานป้องกันควบคุมโรค โรงพยาบาลรัฐ เอกชน และผู้สนใจ เข้าร่วมประชุมจำนวนทั้งสิ้น 300 คน

การประชุมครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญหลายท่านที่ได้มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อให้ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนได้รับการบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐาน การบริการในทุกระดับอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ยังมีการประกวดผลงานวิชาการในรูปแบบโปสเตอร์ การบรรยาย และมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์สำหรับห้องปฏิบัติการ ใช้เวลาในการประชุม 2 วัน ระหว่างวันที่ 4-5 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ พาลาสโซ่ พัทยา จังหวัดชลบุรี 

นพ.พิเชฐ กล่าวว่า การส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เป็นภารกิจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนภูมิภาค จำนวน 15 แห่ง ร่วมการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงาน โดยมุ่งหวังให้ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ มีการนำระบบคุณภาพไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพของห้องปฏิบัติการ  เพื่อพัฒนาศักยภาพ ธำรงรักษา และยกระดับ สร้างเสริมความเข้มแข็งของระบบคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการ รวมทั้งมีความพร้อมในการเผชิญกับภาวะวิกฤตหรือโรคระบาดที่อาจเป็นภัยคุกคาม ให้มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ สามารถดำเนินการให้บริการได้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างหลักประกันสุขภาพ และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ดี  มีประสิทธิภาพแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานมีประสิทธิภาพ และเสมอภาคเท่าเทียมกัน

ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2567 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 4 สระบุรี ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงจัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เครือข่ายห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ได้รับการส่งเสริมการธำรงรักษาระบบคุณภาพให้มีมาตรฐาน ช่วยให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคได้อย่างถูกต้อง เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชนที่มารับบริการโดยตรง อีกทั้งให้บุคลากรทางห้องปฏิบัติการได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงาน นำความรู้ที่ได้รับ กลับไปพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการของตนอย่างมีคุณภาพ สร้างความกลมเกลียวระหว่างหน่วยงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสู่ความเป็นเลิศ นำไปพัฒนาปรับปรุงงานของตนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถรองรับการเข้าสู่อุตสาหกรรมทางการแพทย์ต่อไป

นพ.พิเชฐ กล่าวต่อว่า มีบุคลากรทางการแพทย์จากหน่วยงานต่างๆ ในเขตสุขภาพที่ 4,5 และ6 ส่งบทคัดย่อผลงานวิชาการเข้าร่วมประกวด จำนวน 29 เรื่อง แยกเป็นผลงานวิชาการรูปแบบโปสเตอร์ 21 เรื่อง รูปแบบบรรยาย 8 เรื่อง และมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์สำหรับห้องปฏิบัติการ จำนวน 43 บูธ 

“นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง การกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/2 โอกาสเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง เต้านมและมะเร็งรังไข่ และการแพทย์จีโนมิกส์ เพื่อยกระดับห้องปฏิบัติการ (Genomic laboratory) โดย นายแพทย์ภาสกร  วันชัยจิระบุญ ผู้ช่วยผู้อำนายการด้านศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูง สาขามะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า เรื่อง การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) และ "ผูกพันธุ์" แพลตฟอร์มรายงานผลการตรวจพันธุกรรม โดย ดร.นวลจันทร์  วิจักษณ์จินดา ผู้ทรงคุณวุฒิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้ง มีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน สรุปประเด็นปัญหาอุปสรรค และระดมความคิดเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาห้องปฏิบัติการทางการแพทย์” นพ.พิเชฐ กล่าว