ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.จัดพิธีถวายพระพร ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และประกาศรางวัล “Princess Environmental Health Awards” สำหรับบุคคลและองค์ดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม

 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายในงาน วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2567 “1 ทศวรรษ วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อคนไทยสุขภาพดี” (1 Decade of Environmental Health Day : Healthy Environment for Healthier Living)  ว่า กรมอนามัย และหน่วยงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม จัดพิธีถวายพระพร ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และประกาศรางวัล “Princess Environmental Health Awards” สำหรับบุคคลและองค์ดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ภายใต้แนวคิด “1 ทศวรรษ วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อคนไทยสุขภาพดี” เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนได้สำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่เสียสละและทุ่มเทเพื่อสนับสนุนการพัฒนางานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและภูมิภาคอย่างต่อเนื่องตลอดมา

สำหรับปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอพระราชทานพระวโรกาสนำบุคคลและองค์กรดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัล Princess Environmental Health Award ปี 2567 จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ประเภทองค์กรดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม คือ เทศบาลเมืองยโสธร อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร และประเภทบุคคลดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม คือดร.เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ขับเคลื่อนงานอนามัยสิ่งแวดล้อม สอดรับกับนโยบายและทิศทางการพัฒนาต่าง ๆ เพื่อสร้างมาตรฐานงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ ดังนี้

1. ยุคบุกเบิก : มุ่งเน้นการวางรากฐานงานสุขาภิบาล สร้างส้วม 100 เปอร์เซนต์ ให้ประชาชนเข้าถึงส้วมที่ถูกสุขลักษณะ พัฒนาเป็นส้วมใช้น้ำน้อยและมาตรฐานส้วม HAS ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างระบบประปาหมู่บ้าน ให้ประชาชนเข้าถึงน้ำอุปโภคที่สะอาด

2. ยุคส่งเสริม : มุ่งเน้นการสุขาภิบาลที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน จัดหาน้ำสะอาด ให้ประชาชนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยคลอบคลุมทุกพื้นที่ จัดการมูลฝอยติดเชื้อ ตามหลักสุขาภิบาล ฯลฯ

3. ยุคต่อยอด : มุ่งเน้นการจัดบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐานและคุ้มครองสิทธิของประชาชน พัฒนาระบบบริการคุณภาพด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (EHA) ส่งเสริม GREEN and CLEAN Hospital พัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล พร้อมยกระดับเป็น GREEN and CLEAN Hospital Challenge และมุ่งสู่ Climate-Smart Health Careในปัจจุบัน

4. ยุคยั่งยืน: มุ่งเน้นการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีและสร้างความรอบรู้ให้กับประชาชน ขับเคลื่อนเมืองสุขภาพดี ให้มีการจัดการเมืองที่คำนึงถึงความจำเป็นพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งพัฒนามาตรฐานโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ให้ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ปฏิบัติงาน จัดตั้งทีมปฏิบัติการ SEhRT รับมือภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข และจัดการสิ่งคุกคามสุขภาพสมัยใหม่ ด้วยการเฝ้าระวัง สื่อสารความเสี่ยง เป็นต้น