ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้เชี่ยวชาญยาสูบบราซิล หนุนไทยแบน "บุหรี่ไฟฟ้า" ต่อ! เผยผลสำเร็จ 14 ปี อัตราสูบบุหรี่ธรรมดาลดต่อเนื่อง สูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่เพิ่ม เผยหลักฐานทางการแพทย์ พบ! บุหรี่ไฟฟ้าบางรุ่นสูบได้ถึง 10,000 คำ นิโคตินสูงเทียบเท่าบุหรี่ธรรมดาถึง 1,000 มวน  

เมื่อ 1 กรกฎาคม 2567 คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ทำอย่างไร บราซิลจึงสามารถคงกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ท่ามกลางการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่” ที่โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพฯ โดยได้เชิญ ดร.อังเดร ลูอิส โอลิเวร่า ดา ซิลวา ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบจากสำนักงานเฝ้าระวังสุขภาพแห่งชาติบราซิล หรือ ANVISA มาให้ข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์การขับเคลื่อนกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า การแทรกแซงของบริษัทบุหรี่ และการรณรงค์เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศบราซิล 

ดร.อังเดร ลูอิส โอลิเวร่า ดา ซิลวา กล่าวว่า ประเทศบราซิลเพิ่งออกประกาศกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าฉบับใหม่ คือ RDC 855/2024 เมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมีการบัญญัตินิยามของบุหรี่ไฟฟ้าให้ครอบคลุมบุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งแบบเติมน้ำยา (บุหรี่ไฟฟ้าทั่วไป พอด) แบบแห้ง (heat not burn) และแบบไฮบริด (ใช้ได้ทั้งเติมน้ำยา และใบยาสูบ) รวมทั้งอุปกรณ์การสูบทั้งหมด ทั้งน้ำยาที่สกัดจากใบยาสูบหรือสังเคราะห์ และให้ครอบคลุมทั้ง ห้ามผลิต นำเข้า การตลาด การจำหน่าย การจัดเก็บ การขนส่ง การโฆษณาทุกรูปแบบ รวมออนไลน์ และการสูบในที่สาธารณะ

ดร.ซิลวา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การที่ประเทศบราซิลยืนยันกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมีหลักฐานทางการแพทย์ที่ชัดเจนถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าทั้งในแง่ การเสพติด ซึ่งพบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีฤทธิ์การเสพติดที่สูงกว่าบุหรี่ธรรมดา เช่น บุหรี่ไฟฟ้าบางรุ่นสูบได้ถึง 10,000 คำมีปริมาณสารนิโคตินสูงเทียบเท่าบุหรี่ธรรมดาถึง 1,000 มวน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อปอด หัวใจเทียบเท่ากับบุหรี่ธรรมดา และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ที่สำคัญ คือ บุหรี่ไฟฟ้าดึงดูดเด็กและเยาวชนให้เข้ามาสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าแบบพอต ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กทั่วโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตราย การป้องกันผลกระทบทางสุขภาพและสังคมที่จะเกิดกับเด็กและเยาวชนจึงเป็นหัวใจสำคัญให้บราซิลตัดสินใจคงกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าและทำให้เข้มงวดมากขึ้น

ดร. ซิลวา กล่าวอีกว่า บราซิลก็ประสบปัญหาการแทรกแซงจากบริษัทบุหรี่เช่นเดียวกับประเทศไทย ทั้งการบิดเบือนข้อมูลงานวิจัย การวิ่งเต้นผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ รวมทั้งการใช้สื่อโฆษณา แต่สิ่งที่ทำให้รัฐบาลบราซิลตัดสินใจคงกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า เพราะความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมใช้หลักฐานทางการแพทย์นำการกำหนดนโยบาย โดยให้น้ำหนักกับคำแนะนำจากเครือข่ายสถาบันการแพทย์ต่าง ๆ มากกว่าข้อเรียกร้องจากภาคธุรกิจ

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศบราซิลเป็นประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางเช่นเดียวกับประเทศไทย และมีการดำเนินการด้านการควบคุมยาสูบเริ่มต้นมาพร้อม ๆ กับประเทศไทย โดยมีมาตรการทางกฎหมายหลาย ๆ อย่างคล้ายกัน โดยเฉพาะเป็นประเทศที่มีกฎหมายห้ามนำเข้า ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนกัน ซึ่งบราซิลเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ก่อนประเทศไทยประมาณ 6 ปี ดังนั้นบทเรียนจากบราซิลจึงน่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประเทศไทย ทั้งนี้ยังพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ธรรมดาของบราซิลลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากบราซิลมีกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า โดยอัตราการสูบบุหรี่ของบราซิลลดจาก 34.8% (ปี 2532) เป็น 14.1% (ปี 2552 ที่บราซิลเริ่มห้ามบุหรี่ไฟฟ้า) จนปัจจุบันเหลือ 9.1% (ปี 2564) ส่วนอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนบราซิลก็อยู่ในระดับต่ำเพียง 2.8% 

“อยากจะเสนอผ่านไปยังรัฐบาล กระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะกรรมาธิการฯที่กำลังพิจาณากฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าให้นำบทเรียนจากบราซิลที่ให้ใช้ข้อมูลทางการแพทย์เป็นหลักในการกำหนดนโยบาย รวมทั้งบทบัญญัติกฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าของบราซิลมาใช้เป็นแนวทาง” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว