ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะวิธีสังเกต "เห็ดเผาะ" กับ "เห็ดก้อนฝุ่นมีพิษ" ย้ำเห็ดมีพิษ คล้ายรากหรือก้านดอก ผิวไม่เรียบคล้ายมีเกล็ดปกคลุม และเมื่อผ่าดอกเห็ดอาจพบการเปลี่ยนสี หากรับประทานอันตรายถึงชีวิต
 
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2567 นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงหน้าฝนนี้ ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ชนิดของเห็ด  ซึ่งเป็นเห็ดที่มีผู้ป่วยรับประทานแล้วเข้าโรงพยาบาล โดยส่วนใหญ่ที่ส่งตรวจในช่วงนี้ คือ เห็ดก้อนฝุ่นหรือเห็ดไข่หงส์ ซึ่งเป็นเห็ดพิษ ที่มีลักษณะคล้ายกับเห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบที่รับประทานได้ สำหรับลักษณะของเห็ดทั้งสองชนิด มีดังนี้

เห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ ที่นิยมรับประทานในประเทศไทยมีอยู่  2 ชนิด คือ เห็ดเผาะหนัง (Astraeus odoratus) และเห็ดเผาะฝ้าย (Astraeus asiaticus) โดยพบมากในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม  ถึงกรกฎาคม เห็ดทั้งสองชนิดนี้สามารถคัดแยกด้วยตาเปล่าได้ง่าย แต่ในผู้ที่ไม่ชำนาญหรือไม่ระวัง อาจเก็บเห็ดพิษที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบปนมาด้วย โดยลักษณะของเห็ดเผาะหนัง จะมีผิวเรียบ ดอกเห็ดหนาและแข็ง ส่วนเห็ดเผาะฝ้าย ผิวเรียบมีเส้นใยที่เป็นขุยสีขาวปกคลุม ดอกอ่อนนุ่ม โดยทั้ง 2 ชนิดต้องไม่พบลักษณะคล้ายรากหรือก้านดอก ส่วน เห็ดก้อนฝุ่น หรือเห็ดไข่หงส์ (Scleroderma) เป็นเห็ดพิษชนิดหนึ่ง ห้ามนำมารับประทาน สามารถสังเกตด้วยตาเปล่า โดยเห็ดกลุ่มนี้พบลักษณะคล้ายรากหรือก้านดอก ผิวไม่เรียบคล้ายมีเกล็ดปกคลุม และเมื่อผ่าดอกเห็ดอาจพบการเปลี่ยนสี

เมื่อรับประทานเห็ดพิษกลุ่มนี้จะเกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหารภายใน 1 ถึง 3 ชั่วโมง โดยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย นอกจากนี้ยังสามารถก่อให้เกิดอาการมึนงง ตามัว และสภาวะหายใจลำบาก

นพ.ยงยศ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทำได้โดย ให้กินผงถ่าน (activated charcoal) โดยบดละเอียด 2 ถึง 3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 แก้ว ผสมกับน้ำให้ข้นเหลว เพื่อดูดสารพิษของเห็ดในทางเดินอาหาร และรีบนำผู้ป่วยไปหาหมอหรือส่งโรงพยาบาล พร้อมกับนำเห็ดที่เหลือจากกินไปด้วย เพื่อให้แพทย์ ใช้ประกอบการวินิจฉัย รักษาตามอาการ โดยสามารถส่งตรวจสอบชนิดของเห็ดพิษทางห้องปฏิบัติการศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร. 0 2951 0000 ต่อ 99716 และศูนย์ประสานงานการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ โทร. 0 2951 1485

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง