กรมการแพทย์ แนะโรคความดันโลหิตสูง ควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากปล่อยไว้นานอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบสมอง และระบบตา ชี้ความดันมากกว่า 135/85 มิลลิเมตรปรอท เสี่ยงป่วย อาจเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวหรืออุดตันได้
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคความดันโลหิตสูง คือ ผู้ที่มีความดันโลหิตมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท โรคความดันโลหิตสูงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่
ความดันโลหิตสูงแบบปฐมภูมิ (essential/primary hypertension) ภาวะความดันโลหิตสูงที่สามารถพบได้บ่อยที่สุด และยังไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน ส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป มักจะเกิดจากพันธุกรรม และสภาพแวดล้อม อาทิเช่น คนในครอบครัวมีประวัติของโรคความดันโลหิตสูง การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม หรือการที่มีน้ำหนักตัวเกิน รวมถึงโรคร่วมอื่น ๆ ที่มีผลทางอ้อมที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน ไรคไตเสื่อม และโรคนอนกรน ซึ่งความดันโลหิตสูงแบบปฐมภูมิ สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ดังนั้น การรักษาต้นเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นอาจช่วยลดความดันโลหิตลงได้บ้าง แต่ยังจำเป็นต้องใช้ยารักษาความดันโลหิตสูงอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอดไป
ความดันโลหิตสูงแบบทุติภูมิ (secondary hypertension) ภาวะความดันโลหิตสูงที่มีสาหาตุมาจากโรค ภาวะ สารหรือยาบางอย่างที่มีสาเหตุชัดเจน เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตสูงจากโรคที่เกี่ยวกับระบบไต ระบบหลอดเลือด หรือระบบต่อมไร้ท่อ รวมไปถึงการใช้ยาหรือสารบางอย่าง ที่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งการรักษาจากสาเหตุตั้งต้นนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถทำให้ความดันกลับมาเป็นปกติได้
ด้าน นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคความดันโลหิตสูง มักจะไม่มีอาการผิดปกติ จะตรวจพบได้ก็ต่อเมื่อมีการตรวจวัดความดันโลหิตเท่านั้น แต่ในกรณีที่มีความดันโลหิตสูงมาก ๆ อาจมีอาการปวดศรีษะ ตึงบริเวณต้นคอ มึนเวียน ตาพร่ามัวได้ และในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤติ (Hypertensive emergency) คือผู้ที่ค่าความดันโลหิตที่มากกว่า 180/100 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไปร่วมกับมีอาการของระบบใดระบบหนึ่งที่ผิดปกติร่วมด้วย เช่น มีอาการเหนื่อยจากภาวะหัวใจล้มเหลว มีอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะหัวใจขาดเลือด มีอาการซึม พูดจาสับสน ปวดศรีษะมาก อาเจียนจากภาวะทางสมอง แขน/ขาอ่อนแรงจากภาวะเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก หรือภาวะไตวายเฉียบพลัน หากมีอาการดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการรักษาในทันทีโดยการให้ยาทางหลอดเลือดเพื่อลดความดันโลหิตลงให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยภายในระยะเวลาเป็นนาทีหรือชั่วโมง นอกจากนี้ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 180/100 มิลลิเมตรปรอท แต่ไม่มีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยการรับประทานยาเพื่อลดความดันโลหิตให้กลับมาเป็นปกติภายในระยะเวลา 2-3 วัน
นอกจากนี้ ถ้าปล่อยให้มีความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานโดยไม่ทำการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบบต่างๆ ของร่างกายได้ ดังนี้
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดหลอดเลือดแข็งตัว ผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น เกิดเส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเหลือดใหญ่โป่งพอง เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณขาหรือแขนอุดตัน และหัวใจล้มเหลว
- ระบบสมอง ทำให้เกิดเส้นเลือดสมอง/เส้นเลือดที่คอตีบ เส้นเลือดสมองโป่งพองหรือแตก เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
- ระบบตา ทำให้เกิดผลกระทบกับเส้นเลือดที่บริเวณจอประสาทตาเกิดเลือดออก เส้นเลือดหนาตัวมากขึ้น จนจอประสาทตาบวม ทำให้มีผลกระทบต่อการมองเห็น แต่ส่วนใหญ่แล้วภาวะดังกล่าวจะดีขึ้นหากลดความดันโลหิตลงได้ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการมองเห็นอย่างถาวร
หากพบว่า มีความดันโลหิตสูง ควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ไปพบแพทย์เพื่อรับยารักษาความดัน และโรคอื่นร่วมด้วย ลดการบริโภคอาหารรสเค็ม ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มมึนเมา ลดน้ำหนัก และออกกำลังกายในระดับปลานกลาง อย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็ว หรือวิ่งเหยาะ ๆ อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 20-30 นาที เลิกสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ และลดความเครียดจากการทำงาน
- 253 views