กรมการแพทย์ห่วงผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ ผู้ที่มีประวัติโรคไตเรื้อรังในครอบครัว ผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดต่อเนื่องเป็นประจำ สุ่มเสี่ยงโรคไต แนะพบแพทย์แต่เนิ่นๆ หากพบอาการระยะแรก สามารถชะลอไตเสื่อมได้
นพ.ธีรพล โตพันธานนท์
นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย มีหน้าที่ขจัดของเสีย รักษาสมดุลน้ำในร่างกาย เมื่อร่างกายมีน้ำมากเกินไป ไตจะขับน้ำส่วนเกินออก แต่เมื่อร่างกายขาดน้ำ ไตจะพยายามสงวนน้ำไว้ในร่างกาย รักษาสมดุล กรด ด่างและเกลือแร่ในร่างกายให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ ควบคุมความดันโลหิตผ่านการควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่บางชนิด สร้างฮอร์โมนทำให้ไม่เกิดภาวะโลหิตจาง และควบคุมการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสทำให้กระดูกแข็งแรง
โรคไตอาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดไต หลอดเลือดฝอยในไต เนื้อเยื่อ ตลอดจนความผิดปกติของกรวยไตและท่อไต อาการที่สำคัญ คือ บวม ปัสสาวะเป็นเลือด มีลักษณะคล้ายสีน้ำล้างเนื้อ หรือเป็นเลือดสด ปัสสาวะเป็นฟอง เนื่องจากมีไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่น เนื่องจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน ปวดหลัง หากเป็นรุนแรงจะมีอาการปัสสาวะออกน้อย ซีดและอ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้จากน้ำท่วมปอด เนื่องจากภาวะน้ำและเกลือแร่เกิน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ คันตามผิวหนัง เลือดออกง่ายหยุดยาก กล้ามเนื้อกระตุก ไม่มีแรง ในรายที่เป็นมากอาจซึม ชัก หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตได้ อาการเหล่านี้เกิดจากการคั่งของเสีย และการเสียสมดุลกรดด่างและเกลือแร่ในร่างกาย
ผู้มีความเสี่ยงสูงควรได้รับการคัดกรองโรคไตเรื้อรัง คือ ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคแพ้ภูมิตนเองที่อาจก่อให้เกิดไตผิดปกติ โรคติดเชื้อในระบบที่อาจก่อให้เกิดโรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเก๊าท์หรือระดับกรดยูริกในเลือดสูง โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบนซ้ำหลายครั้ง ผู้ที่ได้รับยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs หรือสารพิษที่ทำลายไตเป็นประจำ ผู้ที่มีมวลเนื้อไตลดลงหรือมีไตข้างเดียว ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิดหรือเป็นภายหลัง มีประวัติโรคไตเรื้อรังในครอบครัว ตรวจพบนิ่วในไตหรือระบบทางเดินปัสสาวะ ตรวจพบถุงน้ำในไตมากกว่า 3 ตำแหน่งขึ้นไป
ฉะนั้น ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงข้างต้น ควรได้รับการคัดกรองหากพบในระยะแรกๆ สามารถชะลอไตเสื่อม เพื่อไม่ให้พัฒนาไปสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย
การรักษาโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายโดยการทดแทนการทำงานของไตมี 3 วิธี ที่เป็นมาตรฐาน คือ
1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยทั่วไปผู้ป่วยจะได้รับการฟอกเลือดครั้งละ 4-5 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ต้องทำที่โรงพยาบาลหรือศูนย์ไตเทียม โดยมีพยาบาลและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟอกเลือดเป็นผู้ดูแล
2. การฟอกเลือดทางช่องท้อง ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้านโดยเปลี่ยนถ่ายน้ำยาวันละ 4-5 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 นาที และควรมาพบแพทย์เป็นระยะตามความเหมาะสม เช่น 1-2 เดือนต่อครั้ง
3. การผ่าตัดปลูกถ่ายไตโดยได้รับบริจาคไตจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย หรือผู้ที่มีชีวิตอยู่
ทั้งนี้ การตัดสินใจเลือกวิธีรักษาโรคไตวายเรื้อรังแต่ละรายมีข้อจำกัดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์
- 215 views