ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สต.บ้านโป่งทุ่ง จ.เชียงใหม่ ใช้ "12 Tips-สุขเป็น" สร้างกิจกรรม "เกมเศรษฐี" ทำให้ประชนในชุมชนมีความสุข ช่วยลดความเครียด-ลดซึมเศร้าได้ เผยปัจจุบันอัตราการทำร้ายตนเองของ "กลุ่มผู้สูงอายุ-เด็กและเยาวชน" ลดลง  

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2567 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ จัดสัมนางานวิชาการเรื่อง “สุขเป็น : จิตวิทยาเชิงบวกในชุมชนโดยกลไกชุมชน”  ภายใต้โครงการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต เด็ก เยาวชน และครอบครัว “สุขเป็น” เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการทำงานระดับพื้นที่ ขยายผลความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมและเครื่องมือส่งเสริมการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิตเชิงบวกในชุมชนโดยกลไกชุมชน โดยมี  นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานเปิดงานครั้งนี้

นางศิรนุช ใหม่คำ หนึ่งในตัวแทนกลุ่มผู้สร้างโมเดล "สุขเป็น" รพ.สต.บ้านโป่งทุ่ง รพ.ดอยเต่า และ พชอ.ดอยเต่า เผยว่า เราจะมีการทำแบบคัดกรองขึ้นมาและสำรวจตามชุมชนว่าบุคคลไหนมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าและได้มีการนัดหมายเพื่อติดตามอาการอยู่ประจำ โดย "12 Tips-สุขเป็น" อาทิ การสร้าง"เกมเศรษฐี" เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือ  ซึ่งเกมเศรษฐีจะสามารถทำให้บุคคลนั้นเผยความรู้สึกออกมาโดยการตอบคำถามตามที่ทอยลูกเต๋าได้ เพราะเราจะมีการเขียนคำถามไว้ตามหมายเลขต่างๆไว้ในเกมเศรษฐี  ฉะนั้นผู้ร่วมกิจกรรมจะไม่รู้สึกมีความเครียดมาก จะรู้สึกผ่อนคลายมากกว่า เหมือนได้เล่นเกมมากกว่า  

หลังจากนั้นเรามีการประเมินและดูว่าบุคคลไหนมีความเสี่ยงเราก็จะเข้าไปหาแนะนำวิธีการจัดการตัวเองอย่างถูกต้อง อย่างบางคนเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าเราก็จะมีวิธีการแนะนำแนะนำให้ไปพบแพทย์และไป ประเมินอาการที่โรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลดอยเต่าจะมีคลินิกที่ให้บริการโดยเฉพาะอยู่แล้ว เมื่อประเมินอาการแล้วหากเข้าข่ายก็จะได้รับการรักษาหรือกินยาตามขั้นตอนต่อไป โดยการช่วยเหลือจะมีทั้ง เจ้าหน้าที่รพ.สต. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลดอยเต่า อสม. และท้องถิ่น ที่เข้ามาช่วยเหลือและค้นหาบุคคลที่มีความเครียดในชุมชน

  

การทำงานเราจะเน้นเรื่องสุขภาพจิตเป็นหลัก ซึ่งได้มีการของบประมาณจากสปสช. ในการจัดประชุม การจัดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการคัดกรองการรายงานผล ซึ่งโครงการนี้ได้มีการทำมาตั้งนานแล้วเพราะชุมชนมีปัญหาอย่างมากซึ่งเมื่อก่อนเราเน้นที่ปลายน้ำอย่างเดียว  ปัจจุบันเราเน้นทำตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การสร้างแกนนำหลักในพื้นที่ 25 คน จาก อสม. ผู้นำชุมชน อบต. รพ.สต.บ้านโป่งทุ่ง และคลินิกง่วนโจ๋โรงพยาบาลดอยเต่า นอกจากนี้ยังมีการขยายผลนอกพื้นที่เกิดการขยายผลกิจกรรมนอกพื้นที่หลายแห่ง ใช้แนวทางและรูปแบบสุขเป็นเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหา"นางศิรนุช กล่าว 

นางศิรนุช กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้สูงอายุน่าเป็นห่วง แต่เรามีการอบรมมีการจัดกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุ ปัจจุบันเริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่ตอนนี้ที่มีปัญหามากที่สุดคือ กลุ่มวัยรุ่น ช่วงประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น มีอัตราความเครียดสูงกว่าผู้สูงอายุ แต่ยังไม่ถึงขั้นฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่พยายามฆ่าตัวตายเท่านั้น  โดยความเครียดส่วนมากผู้สูงอายุเกิดจาก น้อยใจไม่มีลูกหลานอยู่ดูแลญาติพี่น้องไม่มี ใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียว  ในส่วนของเด็กสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดหลักๆคือโซเชียลมีเดีย น้อยใจพ่อแม่ พ่อแม่ด่าทอ ฯลฯ 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราเน้นใช้กิจกรรมเข้าไปช่วยเหลือหรือเข้าไปเยียวยาเบื้องต้น ซึ่งสามารถทำให้รู้ว่าปัญหาของแต่ละคนมาจากอะไรเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาประชาชนในชุมชนให้การตอบรับดี ซึ่งจากสถิติเมื่อก่อนอัตราการฆ่าตัวตายพุ่ง แต่ ณ ตอนนี้อัตราการฆ่าตัวตายเป็นศูนย์ นางศิรนุช กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

 

- ชูนวัตกรรม “สุขเป็น” นำร่อง 6 จ. ดันชุมชนเกาะติดปัญหาสุขภาพจิต-ภาวะซึมเศร้า