ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.-มูลนิธิแพธทูเฮลท์ ขับเคลื่อนชุมชนพลังบวก ชู นวัตกรรม “สุขเป็น” นำร่องชุมชน 12 พื้นที่ ใน 6 จังหวัด สร้างทัพแกนนำเกาะติดปัญหาสุขภาพจิต-ภาวะซึมเศร้า ลุยขยายผลโมเดลสร้างสุขภาพจิตเชิงบวก ลดความเครียด-เสี่ยงซึมเศร้า-ปลิดชีวิต

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2567 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “สุขเป็น : จิตวิทยาเชิงบวกในชุมชนโดยกลไกชุมชน” ภายใต้โครงการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต เด็ก เยาวชน และครอบครัว “สุขเป็น” เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการทำงานระดับพื้นที่ ขยายผลความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมและเครื่องมือส่งเสริมการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิตเชิงบวกในชุมชนโดยกลไกชุมชน

โดย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  กล่าวว่า สสส. สนับสนุนการดำเนินงานด้านสุขภาพจิต มุ่งเน้นการสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตก่อนเจ็บป่วย โดยร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ขับเคลื่อนมาตรการสร้างเสริมสุขภาพจิตผ่านกลไกชุมชน ผ่านโมเดล “สุขเป็น” มุ่งเน้นทำงานต้นน้ำพัฒนาต้นทุนมนุษย์ เช่น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สู่แกนนำสื่อสารจิตวิทยาเชิงบวกกับคนในพื้นที่ รวมถึงสร้างเครื่องมือตามกรอบแนวทางจิตวิทยา สิ่งแวดล้อมเชิงบวก เพิ่มโอกาสการรับฟัง เพื่อลดความเครียด ภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างสุขอย่างง่าย เช่น ออกกำลังกายใจผ่านการนั่งสมาธิ ทำในสิ่งที่ชอบ พักผ่อน

“จากการดำเนินงานกว่า 2 ปี เกิดชุมชนนำร่องใน 12 พื้นที่ 6 จังหวัด มีประชาชนผู้รับประโยชน์กว่า 7,500 คน ในจำนวนนี้ 96% ระบุว่าเปลี่ยนแปลงตนเองด้านสุขภาพจิตในทางที่ดีขึ้น และได้นำแนวคิดไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และ 75% กลายเป็นแกนนำผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต “เพื่อนคู่คิด” สื่อสารเชิงบวกกับคนในชุมชน ทั้งนี้ เตรียมพัฒนาคู่มือแนวทางทำงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเชิงบวกในชุมชนโดยชุมชน เพื่อขยายผลสร้างชุมชนพลังบวกมากขึ้น” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นพ.พงศ์เทพ กล่าวอีกว่า  การสื่อสารเป็นสิ่งสําคัญมาก เราจะสุขในตัวเราได้อย่างไรในการเข้าใจตนเอง เข้าใจบาดแผลในตนเอง และรู้วิธีการสื่อสารเราจะแบ่งปันความสุขของเราให้กับคนในครอบครัวได้อย่างไร เราจะแบ่งความสุขให้กับคนในสังคมได้อย่างไร  อันนี้คือความสุขทางกาย ใจ สังคม และเหนือกว่านั้นก็คือจิตกับปัญญา เมื่อไหร่ก็ตามเรามีความสุขเหนือตัวตน สุขเหนือตัวตนได้เราก็จะสามารถที่จะมีความสุขในทุกขณะได้  ก่อนหน้านี้เคยตั้งคําถามว่า ชีวิตเกิดมาทำไม แล้วเราจะมีชีวิตต่อไปเพื่อมีเป้าหมายอย่างไร ความสุขคือคําตอบ เราจะมีชีวิตที่มีความสุขอย่างยืนยาวไม่โกรธใครไม่หยุดแล้วก็ยาวนานที่สุดมีความสุขกับการอยู่กับผู้คน มีความสุขกับการอยู่กับตัวเอง มีความสุขได้อย่างยนานที่สุดได้อย่างไรจนกว่าเราจะตาย อยากฝากทุกคนไปแชร์สิ่งที่เรียกว่าสุขเป็น แล้วก็เป็นสุขต่อไป

น.ส.ภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยการมูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า โครงการสุขเป็นได้พัฒนาศักยภาพเครือข่ายแกนนำในพื้นที่ ด้วยชุดเครื่องมือสุขเป็นและแนวทางในรูปแบบ Active Learning อาทิ “12 Tips-สุขเป็น” “อุณหภูมิสุข” “อารมณ์เชิงบวก” “มองโลกแง่ดี” “ปัจจุบันขณะ” “Self care ดูแลตัวเอง” “ล้มแล้วลุกได้” รวบรวมกิจกรรมในพื้นที่นำร่องขับเคลื่อนสุขเป็นระยะที่ 1 ได้ 32 กิจกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้นำและส่งต่อไปยังประชาชนในพื้นที่ รูปแบบกิจกรรมที่เข้ากับบริบทชุมชน การจัดงานสัมมนา ครั้งนี้ เน้นสร้างความร่วมมือพื้นที่นำร่อง 1.สมุทรสาคร ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว และ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน 3.นนทบุรี ที่ ต.ละหาร อ.บางบัวทอง และ ต.ท่าทราย อ.เมือง 4.เชียงใหม่ ต.โปงทุ่ง อ.ดอยเต่า 5.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ ต.เขาล้าน อ.เมือง และ ต.ไชยราช อ.บางสะพานน้อย 6.นครศรีธรรมราช ที่ ต.บ้านตูล อ.ชะอวด และ ต.บ้านชะอวด อ.จุฬาภรณ์ รวมถึงพื้นที่คู่ขนานทุกภาคส่วนกว่า 20 พื้นที่ 

“การจัดงานสัมมนา ครั้งนี้ ได้รวบรวมผลลัพธ์เชิงรูปธรรม ข้อค้นพบ บทเรียนในพื้นที่จากกระบวนการขับเคลื่อนงานสุขเป็น มานำเสนอการขับเคลื่อนงานจิตวิทยาเชิงบวกในชุมชนด้วยกลไกชุมชนและเพื่อให้เกิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับผู้เกี่ยวข้องทั้งภาคีระดับนโยบาย หน่วยงานวิชาการ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ เพื่อความร่วมมือในการทำงานยกระดับความรู้และขยายผลการดำเนินงานส่งเสริมพฤติกรรมลดเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต และสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชนที่เอื้อต่อการสร้าง เด็ก เยาวชน และครอบครัวที่มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ ส่งต่อทักษะการดูแลจิตใจในเชิงบวกให้สามารถรับมือกับปัญหาที่เข้ามากระทบกับจิตใจได้” น.ส.ภาวนา กล่าว

น.ส.ภาวนา กล่าวอีกว่า ความเครียด อันดับ 1 เกิดจากภาวะเศรษฐกิจ เป็นหนี้สินจากรายจ่ายในครอบครัว ถัดมาเกิดจากปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว การสื่อสารด้วยอารมณ์ในบ้าน ทัศนคติต่างวัย ความคาดหวังที่พ่อแม่มีต่อลูก การแข่งขันที่รุนแรงในสังคม ทำให้เด็กกดดันสะสม เกิดเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิต เป็นภัยเงียบที่ต้องป้องกันและสร้างความตระหนักการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัวและชุมชน ที่ ต.โปงทุ่ง พบอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุดใน จ.เชียงใหม่ (ข้อมูล ต.ค. 2565 – ก.ย. 2566) คือ 44 คนต่อประชากรแสนคน พบสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเสพสารเสพติด ดื่มสุรา ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว และเจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย หรือโรคจิตเวช เมื่อผลักดันแนวทางด้านจิตวิทยาเชิงบวกในพื้นที่นำร่องของ ต.โปงทุ่ง ภายใต้โครงการสุขเป็นในพื้นที่ต่อเนื่องควบคู่กับการเฝ้าระวังและป้องกัน เกือบ 1 ปี ทำให้ไม่พบการฆ่าตัวตายสำเร็จ เกิดเป็นโปงทุ่งโมเดลเตรียมขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ สุขเป็น

 

 

น.ส.ภาวนา กล่าวอีกว่า ความเครียด อันดับ 1 เกิดจากภาวะเศรษฐกิจ เป็นหนี้สินจากรายจ่ายในครอบครัว ถัดมาเกิดจากปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว การสื่อสารด้วยอารมณ์ในบ้าน ทัศนคติต่างวัย ความคาดหวังที่พ่อแม่มีต่อลูก การแข่งขันที่รุนแรงในสังคม ทำให้เด็กกดดันสะสม เกิดเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิต เป็นภัยเงียบที่ต้องป้องกันและสร้างความตระหนักการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัวและชุมชน ที่ ต.โปงทุ่ง พบอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุดใน จ.เชียงใหม่ (ข้อมูล ต.ค. 2565 – ก.ย. 2566) คือ 44 คนต่อประชากรแสนคน พบสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเสพสารเสพติด ดื่มสุรา ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว และเจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย หรือโรคจิตเวช เมื่อผลักดันแนวทางด้านจิตวิทยาเชิงบวกในพื้นที่นำร่องของ ต.โปงทุ่ง ภายใต้โครงการสุขเป็นในพื้นที่ต่อเนื่องควบคู่กับการเฝ้าระวังและป้องกัน เกือบ 1 ปี ทำให้ไม่พบการฆ่าตัวตายสำเร็จ เกิดเป็นโปงทุ่งโมเดลเตรียมขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ สุขเป็น