ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"เลอพงศ์" อดีตประธานคณะอนุกรรมการฯ เผยการออก "พ.ร.บ.อสม." ต้องคิดรอบด้าน หวั่นอาจเป็นภาระงบประมาณประเทศชาติ สิ่งสำคัญต้องตอบให้ได้ว่าประชาชนได้อะไรจากกฎหมายฉบับนี้...

หลังจากที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) เดินหน้าออกกฎหมาย พ.ร.บ. สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้ อสม. มีค่าตอบแทน และมีความยั่งยืน โดยไม่ต้องกังวลว่า ในอนาคตจะได้เดือนละ 2,000 บาทหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีกฎหมาย ก็ต้องใช้มติคณะรัฐมนตรีในการอนุมัติ ซึ่งถ้าไม่ให้ อสม.ก็จะไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกฎหมายแล้ว ก็จะเกิดความยั่งยืน ดังนั้น ตนจะช่วยผลักดันให้ อสม.เกิดความยั่งยืนต่อไป

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม “สมศักดิ์” ปิ๊งไอเดีย เล็งออกกฎหมายให้ อสม.เพื่อความยั่งยืน

เร็วๆนี้ นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ อดีตประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยกับ  Hfocus ว่า ประเด็นแรก คือ ถ้าบอกว่าเป้าหมายวัตถุประสงค์ของการออก พ.ร.บ.อสม.เพื่อให้สร้างความมั่นคงหรือสร้างเป็นหลักเป็นฐานมีค่าตอบแทนให้อสม.ที่ชัดเจน ถามว่า ณ วันนี้ ค่าตอบแทนให้อสม.ก็ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะมีระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นมติครม.ที่ให้ค่าตอบแทนของอสม.อยู่ แต่ถ้าหากมี พ.ร.บ.ออกมา จะปรับเปลี่ยนเป็นเงินเดือน หรือจะปรับเปลี่ยนเป็นอะไรก็ตาม รวมถึงถ้าสมมุติว่าจะมีการเพิ่มหรือมีสวัสดิการอะไรต่างๆเหมือนข้าราชการหรือพนักงานราชการเพิ่มขึ้น มองว่าน่าจะเป็นภาระงบประมาณของประเทศชาติ เพราะว่าอสม.มีจํานวนไม่น้อยเลย  

นายเลอพงศ์ กล่าวต่อว่า ที่มาของอสม.แรกเริ่มคือเป็น "อาสาสมัคร" โดยมีวัตถุประสงค์คือต้องการให้คนในชุมชนหรือในหมู่บ้านช่วยดูแลด้านสุขภาพให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จะเห็นได้ว่าอสม.มีทุกหมู่บ้าน เพราะฉะนั้นต้องเริ่มต้นกลับมาดูก่อนว่าวัตถุประสงค์ของการมีอสม.เพื่ออะไร นอกจากนี้ค่าตอบแทนที่อสม.เคยได้เดิมทีแทบจะไม่มีเลย เพราะใช้คําว่า “อาสาสาธารณสุข” ซึ่งคำว่าอาสาขึ้นต้นข้างหน้านั้น ทุกระบบทุกระเบียบทุกคําว่าอาสาทุกตําแหน่งก็คือทํางานโดยจิตอาสา ซึ่งไม่มีค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเมื่อปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบัน อสม.ได้ค่าตอบแทนเพิ่มเป็น 2,000 บาทต่อ/เดือน แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะให้ย้อนกลับ คือ เดิมทีหน้าที่หลักของ อสม. คืออะไร ปัจจุบันอสม.เปรียบเสมือนหมอคนที่ 1 ของพี่น้องประชาชนในชุมชนนั้นหมายถึงว่าเป็นผู้ดูแลด้านสุขภาพให้กับพี่น้องประชาชนคนแรก พี่น้องเจ็บไข้ได้ป่วยปวดหัวตัวร้อนอะไรต่างๆ อสม.จะอยู่ใกล้บ้านเขาที่สุด ก็จะเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาหรือดูแลวินิจฉัยอาการเบื้องต้น อันนี้คือเป้าประสงค์หลัก  

"ถามว่า ณ วันนี้คนที่มีชื่อว่า อสม.นั้นในแต่ละหมู่บ้านเขามีสถานะในชุมชนหรือสถานะในระบบของราชการ พูดง่ายๆ คือเขาใส่เสื้อหลายตัวเขามีหัวโขนใส่หลายตำแหน่ง บางคนเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บางคนเป็นผู้นําสตรี เป็นต้น ฉะนั้นแล้วเราจะไปแยกอสม.เพื่อให้มาทำหน้าที่เฉพาะอสม.มันจะเป็นอย่างไร ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะให้ความเห็นก็คือถามว่า การออก พ.ร.บ.อสม.ประชาชนได้อะไร...คนเขียนพ.ร.บ.ต้องตอบให้ได้ว่าประชาชนได้อะไรจากการออกกฎหมายฉบับนี้ ถ้าจะออกเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่แน่นอน ได้รับสิทธิประโยชน์ที่มากขึ้น แล้วถ้าเกิดว่าองค์กรหรือมวลชนในกลุ่มอื่นๆ บอกว่า ออกพ.ร.บ.ให้บ้างสิอย่างนี้มันจะมีผลต่อเนื่องไปตรงนี้หรือไม่" นายเลอพงศ์ กล่าว

นายเลอพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการที่จะผลักดันออก พ.ร.บ.อสม.วัตถุประสงค์เป้าหมายเพื่อความมั่นคงนั้นต้องคิดให้รอบด้าน แล้วสิ่งที่สําคัญคือทําแล้ว พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาแล้วต้องถามว่าประชาชนได้อะไร "อย่าถามว่าอสม.ได้อะไร อย่าถามว่ารัฐมนตรีได้อะไร อย่าถามว่าพรรคการเมืองได้อะไร ต้องถามว่าประชาชนได้อะไรจากพ.ร.บ.ฉบับนี้"

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

-สบส.รับนโยบาย “สมศักดิ์” ฟื้นร่าง พ.ร.บ.อสม.ปี 65 จ่อประชาพิจารณ์ 4 ภาคเร็วๆนี้(คลิป)

-ข่าวดี! ค่าป่วยการอสม. เดือนละ 2 พันบาทเข้าบัญชีแล้ว 

-“สมศักดิ์” ชูโครงการสินเชื่อ “เงินด่วนคนดี” อสม.ทั่วประเทศ ลดปัญหาหนี้นอกระบบ

-"สมศักดิ์" จ่อดัน พ.ร.บ.อสม. เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ดูแลปชช.ขั้นปฐมภูมิ

- ชมรม อสม.ภาคอีสาน หนุนเกิด "พ.ร.บ.อสม." ชี้ช่วยเพิ่มมาตรฐานการทำงาน