“ธนกฤต” รับเรื่องกรณีเด็กวัย 6 ขวบ ป่วยเป็นปานยักษ์ นำส่งเข้ารักษา รพ.เด็ก มีแพทย์ทั้งจากสถาบันโรคผิวหนัง-สถาบันมะเร็งฯ ร่วมรักษา โดยกระบวนการทั้งหมดใช้สิทธิบัตรทอง
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) น.ส.ชลิดา พะละมาตย์ หรือ ต้นอ้อ เป็นหนึ่ง ประธานมูลนิธิเป็นหนึ่ง ได้นำครอบครัวเด็กชายอายุ 6 ขวบ ซึ่งป่วยเป็นปานยักษ์ทั่วแผ่นหลัง เข้าร้องขอความช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุข ให้เข้าระบบการรักษา โดยมี นายกองตรีธนกฤต จิตอารีรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ รับเรื่อง
น.ส.ชลิดา พะละมาตย์ หรือ ต้นอ้อ เป็นหนึ่ง ประธานมูลนิธิเป็นหนึ่ง กล่าวว่า กรณีของน้องอายุ 6 ขวบ ตนทราบจากสื่อโซเชียลจึงได้ประสานทางครอบครัวเพื่อต้องการช่วยเหลือให้เด็กได้เข้าสู่ระบบการรักษาในเบื้องต้นที่ได้พูดคุยกับเด็กอายุ 6 ขวบอาศัยอยู่กับตาที่จ.บุรีรัมย์ ส่วนพ่อกับแม่ แยกทางกันและเข้ามาทำงานในกรุงเทพ เบื้องต้นอาการของน้องพบเป็นมาตั้งแต่เด็กพออายุเริ่มมากขึ้นขนาดของปานหลังก็ใหญ่ขึ้นในช่วงที่อากาศร้อนก็จะคัน แสบบริเวณที่ที่มีปาน ต้องเกาแรงๆหรือทุบหลัง ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย โดย ตา เคยพาไปรักษาใน จ.ขอนแก่น แต่ด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางทำให้ไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง ในวันนี้ จึงได้ประสานทางกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอให้ช่วยเหลือเรื่องการรักษา
ด้านนายกองตรีธนกฤต กล่าวว่า ได้รับการประสานจากทางมูลนิธิเป็นหนึ่ง ให้ช่วยเหลือกรณีการรักษาเด็กวัยหกขวบ ในวันนี้ได้หารือกับกรมการแพทย์ เพื่อประสานสถานพยาบาลในสังกัด เช่น สถาบันโรคผิวหนังแห่งชาติ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รวมไปถึงสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในการพิจารณาแนวทางการรักษาผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งรับเป็นผู้ป่วยในเพื่อเข้าสู่ ระบบการรักษาในวันนี้ และเป็นการรักษาตามสิทธิของผู้ป่วยไม่มีค่าใช้จ่ายตามสิทธิ 30 บาทรักษาทุกที่
ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นจากลักษณะของโรคเข้าข่ายป่วยด้วย Congenital giant melanocytic nevus หรือโรคไฝยักษ์ตั้งแต่กำเนิด ซึ่งลักษณะลักษณะนี้ มิได้มีร่องรอยโรคเฉพาะบริเวณผิวหนังแต่อาจพบผลกระทบต่อระบบอื่นๆ เช่น ระบบประสาทไขสันหลัง ทำให้มีผลต่อการทรงตัวของเด็ก แผนการรักษาในเบื้องต้นจะต้องตรวจวิเคราะห์ชิ้นเนื้อ ในจุดบริเวณที่เกิดโรคก่อนแล้วทางแพทย์ จึงจะวางแผนการรักษาพร้อมกับการรักษาเรื่องการทรงตัวของเด็กไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ โรคดังกล่าวไม่ใช่โรคใหม่ เพราะที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมีผู้ป่วยลักษณะนี้เข้ารับการรักษา 5-6 ราย แต่แต่ละรายอาการอาจแตกต่างกันและใช้ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน โดยทางสถาบันสุขภาพเด็กจะรับผู้ป่วยเข้าระบบการรักษาพร้อมจัดที่พักให้สำหรับญาติที่เข้ามาดูแลเด็กด้วย
- 187 views