ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.เผยความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.อสม. อยู่ในขั้นตอน เตรียมเปิดเวทีประชาพิจารณ์  ภายใน ก.ค. คาดแล้วเสร็จในส่วนกระทรวงฯ ก.ย. นี้ก่อนเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ ด้าน อธิบดีสบส.เผยกำหนดช่วงอายุเป็น อสม. 18-55 ปี ส่วนข้อเสนอสิ้นสภาพต้องรอรับฟังความคิดเห็น ย้ำ! ยังคงอำนาจ นพ.สสจ.พิจารณาสถานะ อสม.

 

“สมศักดิ์” ถามความเห็นร่างพ.ร.บ.อสม.

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ... ว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางตรวจเยี่ยม รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้มีอสม.มารร่วมในกิจกรรมด้วย โดยได้ซักถามความคิดเห็นของ อสม. ต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ปรากฎว่า อสม.ในหลายอำเภอของจังหวัดสนับสนุนให้มีการร่างพ.ร.บ.อสม. ซึ่งเจ้าภาพหลัก คือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ในการจัดทำร่างพ.ร.บ.ฯ โดยจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

“เนื้อหาหลักในร่างพ.ร.บ.ฯ จะเป็นที่มาของ อสม. ค่าป่วยการ สวัสดิการต่างๆ รวมถึงการพัฒนาอสม.ต่างๆ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี  ซึ่งการออกกฎหมายจะต้องฟังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพี่น้องของ อสม. ซึ่งจากการลงพื้นที่ของรมว.สาธารณสุขวานนี้ (13 มิ.ย.) ได้ชักชวนพี่น้องอสม.ว่าถ้าเห็นด้วยกับกฎหมายก็ให้ช่วยกันรณรงค์ และหากมีประเด็นใดที่คิดว่าเป็นประโยชน์ก็ขอให้แจ้งมา เพื่อให้อธิบดี สบส. นำไปดำเนินการตามขั้นตอน ถือเป็นนโยบายสำคัญของรมว.สาธารณสุขที่ประกาศในนโยบายกระทรวงฯ 5+5 เร่งรัด สานต่อ พัฒนา” ปลัดสธ. กล่าว

พร้อมเปิดเวทีประชาพิจารณ์ รวมกรณีกำหนดช่วงอายุการเป็นอสม.

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะต้องมีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า แน่นอน การจัดทำกฎหมายยังต้องมีหลายขั้นตอน ทั้งเรื่องการรับฟังความคิดเห็น อย่างเช่นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา รมว.สาธารณสุข เน้นย้ำกับ อสม.ว่าขอความคิดเห็นขอความร่วมมือในประเด็นต่างๆที่คิดว่าควรจะมีในร่างพ.ร.บ.

เมื่อถามว่า ในร่างพ.ร.บ.จะมีการกำหนดช่วงอายุการเป็น อสม. ด้วยหรือไม่   นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กฎหมายคงไม่ใช่เป็นข้อกำหนดของใครคนใดคนหนึ่ง ผู้ที่ออกกฎหมาย คือ สภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา ซึ่งต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ซึ่งเนื้อหาโดยระบอบประชาธิปไตยในการออกกฎหมายผ่านปวงชนชาวไทยก็คงต้องรับฟังความคิดเห็นของบุคคลต่างๆ ให้รอบด้าน รวมถึงมุมมองในมิติต่างๆ ซึ่งอธิบสบส. จะต้องนำมาประมวลเพื่อจัดทำเป็นร่าง

ตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพแล้ว

เมื่อถามถึงความคืบหน้าของยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ  นพ.โอกาส กล่าวว่า เบื้องต้น รมว.สาธารณสุข ให้หลักการในนโยบายว่า ควรมียุทธศาสตร์กำลังคน ขณะนี้ตั้งคณะกรรมการและจัดทำร่างยุทธศาสตร์เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างนำเสนอกระทรวงรับทราบและเห็นชอบต่อไป

ประชาพิจารณาร่างพ.ร.บ.อสม.ภายใน ก.ค.   

ด้าน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดี สบส. กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.อสม.ผ่านคณะกรรมการร่างกฎหมายแล้วอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการกลาง อสม.ซึ่งมีปลัดสธ.เป็นประธานประมาณปลายเดือนมิถุนายนนี้ จากนั้นก็จะนำไปจัดทำประชาพิจารณ์ในเดือนกรกฎาคม โดยกำหนดจัดเวทีประชาพิจารณ์ใน 4 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือที่จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จ.ขอนแก่น ภาคใต้ที่จ.นครศรีธรรมราช และภาคกลางที่จ.ชลบุรี  

รวมทั้งจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ควบคู่ไปด้วย จากนั้นก็จะนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลเพื่อประกอบในร่างกฎหมายก่อนนำเสนอกระทรวง และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา  คาดว่าในส่วนของกรมฯ จะดำเนินการได้ไม่เกินเดือนกันยายน จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติต่อไป

“ร่างพ.ร.บ.ฯ ที่กำลังจะทำกับระเบียบอสม.เดิมไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่การร่างพ.ร.บ. เพื่อให้เป็นกฎหมายจะได้มีความมั่นคงยั่งยืนให้แก่อสม. ที่ปฏิบัติงาน ทำให้มีกฎหมายของตัวเองได้” นพ.สุระ กล่าว

กำหนดช่วงอายุเป็น อสม. 18-55 ปี

เมื่อถามถึงข้อเสนอการกำหนดช่วงอายุของ อสม. นพ.สุระ กล่าวว่า ต้องเป็นไปตามความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เสีย รวมทั้งองค์กร ชมรม  อสม. เพราะเขาก็อยากควบคุมคุณภาพเนื่องจากการทำงานของ อสม.ถ้ามีสุขภาพดีและอยู่ในช่วงที่มีแรงที่จะสามารถทำงานก็เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งในตัวร่างได้กำหนดผู้ที่จะเข้ามาเป็น อสม.อยู่ระหว่างอายุ 18-55ปี ไม่น้อยและไม่มากเกินไป

ข้อเสนอสิ้นสภาพ อสม.ต้องรอรับฟังความคิดเห็น

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดวาระความเป็น อสม. นพ.สุระ กล่าวว่า คงต้องกำหนดในรายละเอียดของกฎหมายลูกอีกครั้งว่า อสม.จะสิ้นสภาพตามหลักเกณฑ์กฎหมายหรือไม่ อย่างไร คงต้องรับฟังความคิดเห็นเรื่องนี้ก่อน

ยังคงอำนาจ นพ.สสจ.ถึงสถานะ อสม.

ผู้สื่อข่าวถามว่า สามารถที่กำหนดในร่างกฎหมายได้หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาอสม.บางคนถูกมองว่าไม่ได้ทำงาน จะระบุได้หรือไม่ว่าต้องทำงานเท่าไหร่ อย่างไร นพ.สุระ กล่าวว่า จริงๆ แล้วเป็นอำนาจนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ว่าอสม.ที่จะเอาออกหรือเอาเข้ามาใหม่อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งกฎหมายยังให้อำนาจเหมือนเดิมอยู่ ซึ่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสามารถพิจารณาได้ว่าจะให้ใครเป็นอสม.ต่อได้หรือไม่ เป็นไปตามระเบียบเดิม และในร่างกฎหมายใหม่ก็เช่นกัน

ข่าวเกี่ยวข้อง :

-สบส.รับนโยบาย “สมศักดิ์” ฟื้นร่าง พ.ร.บ.อสม.ปี 65 จ่อประชาพิจารณ์ 4 ภาคเร็วๆนี้(คลิป)

-ชมรม อสม.ภาคอีสาน หนุนเกิด "พ.ร.บ.อสม." ชี้ช่วยเพิ่มมาตรฐานการทำงาน

-ข่าวดี! ค่าป่วยการอสม. เดือนละ 2 พันบาทเข้าบัญชีแล้ว