รมว.สาธารณสุข ลั่นเซ็นแล้ว! เสนอของบค่าเสี่ยงภัยโควิดคงค้างอีกกว่า 3 พันล้านบาท ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขปฏิบัติงานโควิดช่วงครึ่งเดือนหลังมิ.ย.-ก.ย. 65 ควบคู่กับดำเนินการตามคำร้องขอกรณีร่างกฎหมายกระทรวงฯ แยกตัวออกจาก ก.พ. รายงานข่าวระบุว่า ส่วนค่าเสี่ยงภัยโควิดล็อตก่อนหน้านี้ สธ.จ่ายในสังกัดครบแล้ว ส่วนนอกสังกัดจ่ายไม่ครบเหตุไม่มีหลักฐาน ไม่สามารถจ่ายได้ตามระเบียบราชการ
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางตรวจเยี่ยมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งพบปะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) จังหวัดลำพูนและลำปาง เริ่มจากเดินทางไปตรวจเยี่ยมที่โรงพยาบาลลำพูน โรงพยาบาลลำปาง ก่อนเดินทางไปยังที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ลำปาง
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายที่จะเร่งรัดพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้พี่น้องประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับความสะดวก ใกล้บ้าน ไม่ต้องลำบากเดินทางไกล เพื่อไปโรงพยาบาลในเมือง ลดความแออัด และลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ โดย อสม. จะมีบทบาทสำคัญ ในระบบการแพทย์ปฐมภูมิของประเทศ ในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้แก่ประชาชน ที่สำคัญต้องสนับสนุนให้ อสม.สุขภาพดี ไม่ป่วย
“ผมกำลังเร่งติดตามค่าเสี่ยงภัยโควิดที่คงค้างอยู่กว่า พันล้านบาท ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยได้ติดตามเรื่องให้แล้ว ด้วยการทำหนังสือ ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่เซ็นเพื่อขอเงินภาครัฐมาจ่าย” นายสมศักดิ์ กล่าว
รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า รวมทั้งเดินหน้าเรื่องที่มีการร้องขอของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่เสนอให้ออกจากข้าราชการ กพ. ตนก็ทราบว่า ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข จะจัดชั้นแบบกระทรวงอื่นไม่ได้ เพราะจะตัน และทำให้เสียโอกาส เนื่องจากมีบุคลากรจำนวนมาก ทั้งนี้ ตนก็ยังได้เร่งการเพิ่มบุคลากรแล้ว รวมถึงกำลังหาแนวทางการแก้หนี้ให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ และ อสม.ด้วย
วันเดียวกัน ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้สอบถามถึงความคืบหน้าการเสนอของบประมาณค่าเสี่ยงภัยโควิดช่วงครึ่งเดือนหลังมิถุนายน จนถึงกันยายน 2565 จำนวน 3,749.69 ล้านบาท นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามเพื่อเสนอของบประมาณต่อรัฐบาลแล้ว
ผู้สื่อข่าวราย Hfocus รายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับเงินค่าเสี่ยงภัยโควิด19 หรือเงินค่าตอบแทนของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานช่วงการระบาดของโควิด19 ที่ผ่านมา ซึ่งงบประมาณดังกล่าวรวมวงเงิน 6,745.64 ล้านบาท เป็นเงินค้างจ่ายบุคลากรตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎกาคม 2564 จนถึงกันยายน 2565 แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ
1.งบค่าเสี่ยงภัยโควิดช่วงเดือนกรกฎาคม 2564- ครึ่งเดือนแรกเดือนมิถุนายน 2565 วงเงิน 2,995.95 ล้านบาท
2.งบค่าเสี่ยงภัยโควิดช่วงครึ่งเดือนหลังมิถุนายน จนถึงกันยายน 2565 วงเงินรวม 3,749.69 ล้านบาท แบ่งเป็นสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 3,233.18 ล้านบาท และนอกกระทรวงสาธารณสุขอีก 516.51 ล้านบาท ซึ่งกำลังดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
รายงานข่าวระบุว่า สำหรับงบค่าเสี่ยงภัยโควิดล็อตแรก ได้มีการดำเนินการไปแล้วนั้น โดยในส่วนกระทรวงสาธารณสุขได้รับจัดสรรวงเงิน 2,995.95 ล้านบาท แบ่งจัดสรรในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 1,362.76 ล้านบาท เท่ากับจ่ายแล้ว 100% ส่วนนอกสังกัดกระทรวงฯ เบิกจ่ายแล้วราว 80-90% ทั้งนี้ ในส่วนที่ไม่สามารถจ่ายหน่วยบริการนอกสังกัดได้ เนื่องจากพบว่าส่งเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน ทำให้ไม่สามารถจัดสรรเงินลงไปได้
“หากหน่วยบริการนั้นๆไม่สามารถหาหลักฐานตามเงื่อนไขเพื่อนำเบิกเงินค่าเสี่ยงภัย ตามระเบียบกรมบัญชีกลางก็ไม่สามารถจ่ายเงินให้ได้ เนื่องจากหากไม่มีหลักฐานครบถ้วน จะผิดระเบียบ ซึ่งถ้าจะอุทธรณ์ก็ต้องพิจารณาตามหลักฐานข้อเท็จจริง” รายงานข่าวกล่าว
- 3826 views