ถาม-ตอบ  “ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า” ผอ.โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับแนวทางการให้บริการยุคหลังโควิด ใช้ดิจิทัลเฮลธ์ (Digital Health)  ลดความแออัด ลดภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพิ่มประสิทธิภาพการบริการ

ภาพความแออัดจากการรอคิวในโรงพยาบาลของรัฐ กลายเป็นภาพคุ้นที่ไม่ชินตามานาน และหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างหาวิธีในการลดภาพดังกล่ว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน แน่นอนว่าช่วงการระบาดโควิด มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และจากครั้งนั้น จนมาถึงยุคหลังโควิด หลายโรงพยาบาลมีการปรับเปลี่ยนการบริการที่นำเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดิจิทัลเฮลธ์มาใช้อำนวยความสะดวกกันมาก รวมถึง “โรงพยาบาลศรีนครินทร์”  

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถึงการพัฒนาการให้บริการผู้ป่วยหลังการระบาดโควิด โดยโรงพยาบาลมีการปรับระบบบริการเพื่อลดความแออัด และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

คำถาม: แนวทางการให้บริการยุคหลังโควิด มีการปรับเปลี่ยนอย่างไร

ศ.นพ.สมศักดิ์ : การให้บริการผู้ป่วยหลังจากยุคโควิดที่ผ่านมานั้น ทางโรงพยาบาลมีการปรับระบบบริการเพื่อลดความแออัด และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย

คำถาม: รพ.ศรีนครินทร์ ขอนแก่น ใช้ระบบบริการและเทคโนโลยีที่เพื่อลดความแออัดได้อย่างไร

ศ.นพ.สมศักดิ์
 
1. ระบบนัดการให้บริการแบบเหลื่อมเวลา เพื่อลดระยะเวลาการรอคอยและลดความแออัด โดยนัดการบริการเป็นช่วงเวลา เวลาละ 30 นาที ผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องมารอก่อนถึงเวลาเข้ารับบริการเป็นเวลานาน

2. เพิ่มการให้บริการด้วยระบบบริการผู้ป่วยพิเศษ (Special Medical Service : SMC) ด้วยอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยผู้ป่วยเสียค่าธรรมเนียมการตรวจรักษาของแพทย์เพิ่มเติม คู่ขนานกับการตรวจรักษาในระบบบริการปกติ ส่งผลให้ลดความแออัดในระบบบริการปกติได้ ทั้งในรูปแบบผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยที่ต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัด

3. เพิ่มจุดบริการการตรวจเลือดและการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อลดความแออัด 

4. ปรับระบบการตรวจวัดสัญญาณชีพ (Vital Sign) จากทุกหน้าห้องตรวจ เป็นศูนย์การตรวจวัดสัญญาณชีพตามตำแหน่งต่าง ๆ ของแผนกผู้ตรวจนอก เพื่อลดความแออัดหน้าห้องตรวจ

5. การบริการส่งยาถึงบ้านและส่งยาถึงร้านยา กรณีผู้ป่วยอาการคงที่ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือปัญหาสุขภาพเพิ่มเติม

6. การสั่งยาต่อเนื่อง กรณีผู้ป่วยมีอาการคงที่ ไม่มีปัญหาสุขภาพเพิ่มเติม สุขภาพแข็งแรงดี แพทย์จะใช้ระบบการสั่งยาต่อเนื่อง (Refilled) เช่น สั่งยาเป็นระยะเวลา 3 เดือน และสั่งยาต่อเนื่องอีก 6-9 เดือน ส่งผลให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์เพียงปีละ 1 ครั้ง และได้รับการรักษาต่อเนื่องไม่ขาดยา

7. การให้บริการด้วย Tele-medicine กรณีผู้ป่วยมีอาการคงที่ และสะดวกในการตรวจรักษาผ่านระบบแพทย์ทางไกล
 
8. การให้คำปรึกษาผ่าน Call Center ของโรงพยาบาล และ Line Official ของแต่ละห้องตรวจ เพื่อตอบข้อสงสัยทางสุขภาพ การใช้ยา การนัดหมาย การเลื่อนนัด และระบบบริการอื่น ๆ

คำถาม: ปัจจุบันมีการให้บริการตรวจนอกสถานที่เพื่อลดความแออัดด้วยหรือไม่

ศ.นพ.สมศักดิ์ : มีการให้บริการที่ห้างสรรพสินค้า Central ขอนแก่น ทางโรงพยาบาลเปิดบริการ MD KKU Service เพื่อให้บริการตรวจรักษาโดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ให้บริการตรวจเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจสุขภาพ ออกใบรับรองแพทย์ และรับยาต่อเนื่อง

คำถาม: Digital Health และเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามามีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนการบริการในด้านใด 

ศ.นพ.สมศักดิ์ : การนำ Digital Health มาใช้ในการขับเคลื่อนระบบบริการในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. ระบบการบันทึกเวชระเบียนทางการแพทย์เป็นระบบ Electronic Medical Record (EMR) รวมทั้งระบบการสั่งยา Computerized Provider Order Entry (CPOE) ซึ่งได้เริ่มใช้ที่โรงพยาบาลมาแล้วประมาณ 9 ปี ส่งผลให้การลงวินิจฉัยโรค การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ การสั่งยามีความถูกต้องสูงขึ้น มีความผิดพลาดลดลง และสะดวกในการส่งต่อข้อมูลทางการแพทย์

2. การให้บริการ Tele-medicine ลดความแออัด เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยและประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลาให้ผู้ป่วยและครอบครัว

3. การส่งยาถึงบ้านด้วยระบบการส่งข้อมูลผ่านทาง Line application

4. การพัฒนาระบบการรักษาด้วย Smart ICU ซึ่งเป็นระบบการทำงานรวบรวมสัญญาณจากเครื่องมือแพทย์ในหออภิบาล เปลี่ยนแปลงการบันทึกทางการแพทย์จากกระดาษมาเป็นระบบดิจิตอล แพทย์และพยาบาลทำงานด้วยแพลตฟอร์มเดียวกัน สามารถเข้าถึงได้ด้วยเท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ลดขั้นตอนการทำงานของแพทย์และพยาบาล ลดความผิดพลาดในการบันทึก พยาบาลมีเวลาเพิ่มขึ้นในการดูแลผู้ป่วย ทั้งยังสามารถประเมินอาการของผู้ป่วยว่ามีความเสี่ยงจะเกิดภาวะวิกฤติ หรือภาวะแทรกซ้อนขณะเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วย ICU หรือไม่ และยังสามารถให้การ Early Detection ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ล่วงหน้า ส่งผลให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อัตราการเสียชีวิตที่ลดต่ำลง

5. การแปลผลการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพิ่มความแม่นยำและลดการทำงานของเจ้าหน้าที่ลงได้

6. การบันทึกสัญญาณชีพ และผลการตรวจรักษาต่างลงใน EMR ด้วยระบบอัตโนมัติจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ 

คำถาม: นโยบายการใช้เทคโนโลยี่ช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 

ศ.นพ.สมศักดิ์ : การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ข้างต้นนั้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพ ลดความผิดพลาดลงได้ เช่น การนำ EMR และ CPOE การเชื่อมต่อระบบเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์และนำเข้าข้อมูลสู่ระบบ EMR โดยอัตโนมัติเป็นการเพิ่มความถูกต้องของการนำเข้าข้อมูล ประหยัดเวลา ลดความผิดพลาดลงได้ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีของเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ สามารถลดงานของเจ้าหน้าที่ลงได้ เพิ่มความถูกต้อง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ดังนั้นในบางหน่วยงานที่จะช่วยลดกำลังคนลงได้อย่างชัดเจน คือ แผนกเวชระเบียน เพราะไม่ต้องมีการค้นเวชระเบียน การเปิดระบบการเข้ารับบริการ (เปิด Visit) ก็สามารถใช้เทคโนโลยีมาแทนการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งในอนาคตนี้ก็จะมีการนำหุ่นยนต์จัดยามาใช้มากขึ้น (ซึ่งปัจจุบันมีการนำหุ่ยยนต์มาใช้งานแล้วบางส่วน) ก็สามารถทดแทนกำลังคนลงไปได้ ทำให้สามารถนำเจ้าหน้าที่ต่างๆ เหล่านี้มาทำหน้าที่ที่จำเป็นและยังไม่มีเทคโนโลยีมาทดแทนได้