ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานชมรมอสม.ภาคอีสานเห็นด้วยให้มี "พ.ร.บ.อสม." เผยช่วยให้การทำงานมีมาตรฐานขึ้น เพราะถ้าไม่มีกรอบทำให้อสม.บางคนอาจทำงานไม่เต็ม 100% พร้อมขอบคุณรัฐบาลที่เล็งเห็นความสำคัญ อสม.

หลังจากที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2567 ในพิธีเปิด "กุฏิชีวาภิบาลจังหวัดสุโขทัย" ในช่วงหนึ่งว่า เบื้องต้นได้หารือกับปลัด สธ.ว่าจะพิจารณาออกกฎหมาย เป็น พ.ร.บ. สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้ อสม. มีค่าตอบแทน และมีความยั่งยืน โดยไม่ต้องกังวลว่า ในอนาคตจะได้เดือนละ 2,000 บาทหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีกฎหมาย ก็ต้องใช้มติคณะรัฐมนตรีในการอนุมัติ ซึ่งถ้าไม่ให้ อสม.ก็จะไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกฎหมายแล้ว ก็จะเกิดความยั่งยืน ดังนั้น ตนจะช่วยผลักดันให้ อสม.เกิดความยั่งยืนต่อไป

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม “สมศักดิ์” ปิ๊งไอเดีย เล็งออกกฎหมายให้ อสม.เพื่อความยั่งยืน

เร็วๆนี้  น.ส.วิลัยวัลย์ ธงสันเทียะ ประธานชมรม อสม.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประธานชมรม อสม.จ.นครราชสีมา ให้ข้อมูลกับ Hfocus  ในเรื่องนี้ว่า จริงๆเรื่องการขับเคลื่อนพ.ร.บ.อสม. มีการทำมานานแล้ว แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ไปต่อ ในฐานะที่เป็นประธานชมรม อสม.ภาคอีสาน ซึ่งมีอสม. มากที่สุด ถ้าถามว่าเป็นการตีกรอบเกินไปหรือไม่มองว่าไม่ แต่ความเป็นจิตอาสาต้องอยู่ควบคู่กับการต้องมีกรอบ เหตุเพราะองค์กรเราเป็นองค์กรใหญ่ ถ้าเรามี พ.ร.บ. ก็ไม่ต้องกังวล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณสมบัติ อสม.ที่จะเข้ามาเป็นใหม่ หรือการยุตติบทบาทอสม.ลงก็จะมีกรอบกว้าง ซึ่งเป็นผลจากการที่เราได้รับค่าป่วยการ เพราะถ้าไม่มีกรอบเลยก็จะทำให้อสม.บางคนอาจจะทำงานเพียง 50%-80% ซึ่งอาจจะไม่มีใครทำงานเต็ม 100% เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องมีมาตรฐาน

"ฉะนั้นการที่จะออก พ.ร.บ.อสม.เป็นสิ่งที่ดี ทั้งการวางมาตรฐานของอสม.ซึ่งมีสมาชิกมากที่สุดในประเทศขององค์กรนี้และเป็นที่ถูกจับตามองขององค์กรอื่นๆ ถ้าเรามีพ.ร.บ. เป็นของเราเอง เราจะได้ไม่ต้องกังวล อย่างเช่น เรื่องค่าป่วยการที่ไม่ต้องกังวลว่าจะมีต่อหรือไม่อย่างไร  ซึ่งอสม.บางคนเงินค่าป่วยถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราดีใจที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของเรา พยามผลักดันให้มีพ.ร.บ.อสม.ขึ้น" น.ส.วิลัยวัลย์

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการถ่ายโอนรพ.สต.ที่บางคนมีความเข้าใจว่า อสม.จะถ่ายโอนไปเหมือนกับรพ.สต.หรือไม่ที่ได้ถ่ายโอนไปอยู่กับท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันเรายังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) และ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.)อย่างไรก็ตามการทำงานในพื้นที่อสม.ยังทำควบคู่กับเจ้าหน้าที่ที่ถ่ายโอนเช่นเดิมเพราะฉะนั้นการถ่ายโอนไม่ได้มีผลกระทบกับเรา  

"เห็นด้วยที่จะผลักดันให้มี พ.ร.บ.อสม. เพราะอย่างน้อยๆเราก็ไม่ต้องกังวลว่า อสม.ถูกปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาหรือการเมืองหรือไม่ เราไม่อยากให้อสม. ถูกโยงกับเรื่องนี้" น.ส.วิลัยวัลย์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

-สบส.รับนโยบาย “สมศักดิ์” ฟื้นร่าง พ.ร.บ.อสม.ปี 65 จ่อประชาพิจารณ์ 4 ภาคเร็วๆนี้(คลิป)

-ข่าวดี! ค่าป่วยการอสม. เดือนละ 2 พันบาทเข้าบัญชีแล้ว 

-“สมศักดิ์” ชูโครงการสินเชื่อ “เงินด่วนคนดี” อสม.ทั่วประเทศ ลดปัญหาหนี้นอกระบบ

-"สมศักดิ์" จ่อดัน พ.ร.บ.อสม. เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ดูแลปชช.ขั้นปฐมภูมิ