ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย เผย LGBTQIA+ ในไทยราว 3.6 ล้านคน ร่วมส่งเสริมให้สุขภาพดี อย่างทั่วถึง ในเทศกาล Thailand Pride พร้อมตั้งหน่วยงาน“ส่งเสริมสุขภาพดูแลกลุ่มเปราะบางและกลุ่มความหลากหลาย LGBTQIA+” จัดทำแผนงาน-โครงการ สนับสนุนการดูแลสุขภาพ ในระยะยาว  

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2567 แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญของคนทุกเพศทุกวัย จากสถานการณ์ LGBTQIA+ ในประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในด้านการยอมรับทางสังคมและการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมสำหรับคู่ชีวิตเพศเดียวกัน แม้ว่าการผ่านกฎหมายเพื่ออนุญาตการสมรสของเพศเดียวกันยังไม่สำเร็จ แต่สังคมไทยก็มีความเปิดกว้างมากขึ้น จากการประมาณการของ LGBTQIA+ Capital ในปี 2562 พบว่ามีประชากร LGBTQIA+ ในไทยประมาณ 3.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5 ของประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งหากรวมชาวต่างชาติกลุ่ม LGBTQIA+ ที่อาศัยอยู่ในไทยด้วยแล้ว ก็เป็นประชากรกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งในสังคม

แพทย์หญิงอัจฉรา กล่าวต่อไปว่า หากพิจารณาในมุมมองด้านสุขภาพ จะพบว่ากลุ่ม LGBTQIA+ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสี่ยงทางสุขภาพได้หลายประการ เช่น ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาจากการใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร และความเสี่ยงที่จะเกิดโรคบางอย่าง รวมทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาจากการผ่าตัดแปลงเพศ หรือการทำศัลยกรรม ซึ่งพบว่าปัญหาทางสุขภาพเหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นหากพบในกลุ่ม LGBTQIA+ ที่เป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากจะมีร่างกายอ่อนแอและระบบภูมิคุ้มกันที่ลดลง การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจึงมีความสำคัญ ควรตระหนักและให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมให้คนไทย ทุกความหลากหลาย มีสุขภาพดี อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม พร้อมทั้งได้จัดตั้งหน่วยงาน“ส่งเสริมสุขภาพดูแลกลุ่มเปราะบางและกลุ่มความหลากหลาย LGBTQIA+” อย่างเป็นรูปธรรม  พร้อมทั้งให้มีการจัดทำแผนงาน โครงการเพื่อสนับสนุนการดูแลสุขภาพกลุ่มดังกล่าวในระยะยาวต่อไป

ด้านนายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย และ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กล่าวว่า งาน Thailand Pride มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2567 เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองเกี่ยวกับสิทธิ ศักดิ์ศรี และความเสมอภาคของ LGBTQIA+  และจัดกิจกรรมทั้งเดือนนั้น การดูแลสุขภาพจึงมีความสำคัญ ในการร่วมกันเฉลิมฉลองงานดังกล่าว เริ่มจากการแต่งกายเข้าร่วมกิจกรรมเสื้อผ้าไม่รัดแน่นเกินไป สวมใส่สบายเนื่องจากสภาพอากาศร้อนในเมืองไทย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ “กินร้อน-ช้อนกลาง-ล้างมือ” นอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอวันละ 7- 9 ชั่วโมง  ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร หรือ 8 แก้ว เลือกใช้ห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ (unisex) ป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และควรงดดื่มสุรา ยาเสพติด และร่วมเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจอย่างปลอดภัยในเทศกาล Thailand Pride หลอมรวมกัน โอบรับความหลากหลาย เคารพความแตกต่าง ร่วมสร้างสังคมที่เท่าเทียม