"น.อ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ" หรือ "หมอแดง" ชี้ทางดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างไรให้มีความสุข เน้นวางแผนการรักษาและให้ความรู้กับผู้ดูแลต่อเนื่อง แนะควรพูดความจริงกับผู้ป่วย-ถามความต้องการให้ชัด เพื่อให้ผู้ป่วยจากลาแบบสงบสุข
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลสงฆ์ กรมการแพทย์ได้จัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2567 ในหัวข้อ "ชีวาภิบาล สร้างสุขภาวะ พระสงฆ์ไทย " ณ ห้องประชุมสลากกินแบ่งรัฐบาลชั้น 9 ตึกกัลยาณิวัฒนา โรงพยาบาลสงฆ์ ในวันที่ 30 – 31 พฤษภาคม 2567 ภายในงาน น.อ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ ที่ปรึกษาทีมดูแลคนไข้ระยะท้าย รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ทหารเรือ ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ "ความหวังและทางเลือกของผู้ป่วยระยะท้าย "
โดย น.อ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ ที่ปรึกษาทีมดูแลคนไข้ระยะท้าย รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ทหารเรือ กล่าวว่า แน่นอนว่าความหวังของผู้ป่วยระยะท้ายจริงๆแล้วไม่ได้มีแค่พระสงฆ์ หรือคนทั่วไปที่ป่วยเท่านั้น คนที่ไม่ป่วยก็ต้องเตรียมตัวถึงเรื่องของระยะท้ายๆที่จะมาถึงเช่นกัน “หากถามว่าทำไมเราต้องเตรียมตัวระยะท้าย ก็เพราะว่าทุกคนต้องเสียชีวิต” ในเรื่องของการเสียชีวิต เป็นสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ที่จะต้องกลัวเสียชีวิต แม้แต่มด ไส้เดือน หมา ก็ต้องกลัวเสียชีวิตทั้งนั้น สำหรับมนุษย์แล้วในเรื่องของการกลัวตายมีหลากหลายมาก บางคนกลัวตายเพราะว่าไม่อยากทรมาน บางคนกลัวตายเพราะไม่อยากจากโลกนี้ไป อยากใช้ทรัพย์สมบัติอยากอยู่กับครอบครัวที่ตัวเองรัก ที่ตัวเองยังลงอยู่ ฉะนั้นถ้าเรากลัวสิ่งไหนก็ต้องเข้าหาสิ่งนั้น สิ่งสำคัญคือคนไข้ต้องรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร เป็นโรคอะไร เข้าสู่ภาวะไหน ถ้าคนไข้ไม่รู้ เมื่อมาพูดเรื่องการเสียชีวิตอาจจะเหมือนเป็นการคุยหนังคนละเรื่อง
“นิยามการตายดี” คือคนไข้ต้องตายสบายตายอย่างไม่ทรมาน แต่พบว่ามันไม่สามารถใช้กับทุกคนได้ คนไข้บางคนต้องการตายแบบยังไงก็ได้แต่ขออยู่บนโลกนี้ให้นานที่สุด ขออยู่กับร่างกายนี้ให้นานที่สุด เพราะฉะนั้นคนไข้ยอมที่จะยื้อชีวิตตัวเองแม้จะต้องทุกข์ทรมานแค่ไหน ยกตัวอย่าง คนไข้ป่วยเป็นมะเร็งปอดกระจายไปกระดูก และได้บอกว่าโรคที่คนไข้เป็นลองรักษาดูก่อนก็ได้ ถ้าหากรักษาได้ก็รักษาต่อไป แต่ถ้าทนผลข้างเคียงไม่ได้ค่อยยุติการรักษา ฉะนั้นคนไข้มะเร็งหมอจะแนะนำให้ ไปรักษาดูก่อน ถ้าการรักษาดีและผลข้างเคียงยอมรับได้ให้รักษาต่อไปแต่ถ้าการรักษาดีแต่ผลข้างเคียงยอมรับไม่ได้ค่อยมาคุยกัน ส่วนบางรายที่การรักษาได้ผลไม่ดี ผลข้างเคียงไม่ดี การตอบสนองไม่ดี ฉะนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องยื้อหรือรักษาอะไร” น.อ.พรศักดิ์ กล่าว
น.อ.พรศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับหลักการการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย พูดถึงในเรื่องของสิทธิผู้ป่วย ซึ่งคนไข้ทุกคนต้องรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร เข้าสู่ระยะใง6ที่รักษาจะหายหรือไม่ แล้วถ้าหายคุณภาพชีวิตจะกลับมาเหมือนเดิมไหม ผู้ดูแลต้องให้ข้อมูลอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ให้เป็นไปตามในทิศทางที่เราต้องการและไปปิดบังข้อมูล หรือไปเปิดเผยบางอย่างที่ทำให้คนไข้หลงเชื่อว่าจะเป็นในทางนั้นทางเดียว โดยไปบอกว่าจะต้องหาย แต่เราไม่พูดถึงข้อเสียหรือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากตัวโรคหรือการรักษาเลย ดังนั้นสิทธิผู้ป่วยตรงนี้สอดคล้องกับมาตรา 8 ที่บอกว่าคนไข้ต้องรับรู้ในสิ่งที่เขาเป็นอยู่ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ไม่ควรปิดบัง เมื่อคนไข้รู้ถึงสิ่งที่เขาเป็นแล้วต้องถามความต้องการว่าอยากให้ชีวิตระยะท้ายเป็นแบบไหน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเป้าหมายทางจิตวิญญาณ สอบถามว่าคนไข้มีเป้าหมายอย่างไร โดยเฉพาะประเทศไทยมีความเชื่อว่าการทำดีจะได้ดี มีความเชื่อเรื่องหลักพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ และเรามีกันแนะนำว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้ความต้องการทางจิตวิญญาณเกิดผลสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมา ถือว่าประสบผลสำเร็จได้ มากพอสมควร ซึ่งจะทำให้คนไข้มีการเรียกร้องและเกรี้ยวกราดน้อยลง อีกเรื่องที่สำคัญคือต้องให้ญาติยอมรับในการตัดสินใจของผู้ป่วย ต้องมีการพูดคุยกับญาติด้วย นอกจากนี้ยังให้ความรู้เรื่องการกินกับญาติด้วยว่า พฤติกรรมความต้องการของคนไข้ ต้องการกินหรือไม่หรือปฏิเสธการกิน ซึ่งเมื่อญาติได้ทำตามแผนการรักษาที่วางไว้แล้วคนไข้จะจากลาอย่างไม่ทุกข์ทรมาน
- 540 views