ผู้ตรวจราชการ สธ. เขต 11 เผยอาการลูกเรือประมง "เมืองคอน" สูดดมแก๊สไข่เน่าหมดสติ 3 ราย ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ นำส่งรักษาต่อ รพ.มหาราชฯ และส่งรพ.ท่าศาลาอีก 2 ราย กลับบ้านได้ 6 ราย เตรียมสอบสวนเหตุการณ์เพิ่มพรุ่งนี้ ย้ำต้องระวังสถานที่อับอากาศ
วันนี้ (31 พฤษภาคม 2567) นพ.ศักดา อัลภาชน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวถึงกรณีลูกเรือประมงสูดดมแก๊สไข่เน่าของปลาเป็ดที่อยู่ใต้ท้องเรือ ซึ่งจอดเทียบท่าบริเวณแพปลาในหมู่บ้านด่านภาษี ม.9 อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ส่งผลให้หมดสติหลายราย ได้รับรายงานจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงประมาณ 10.30 น. วันนี้ มีผู้ประสบเหตุทั้งหมด 11 ราย รถกู้ชีพของโรงพยาบาลท่าศาลาร่วมกับรถมูลนิธิในพื้นที่ได้รับผู้ป่วยมาส่งห้องฉุกเฉินเพื่อทำการรักษา โดยมีผู้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 3 ราย ส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ที่เหลือให้นอนสังเกตอาการที่โรงพยาบาลท่าศาลา 1 ราย รักษาในไอซียู 1 ราย และอาการปกติให้กลับบ้านได้ 6 ราย
นพ.ศักดากล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า คนงานทั้ง 11 ราย ลงไปภายในห้องเก็บปลาใต้ท้องเรือประมงที่มีปลาหมักเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นที่อับอากาศ คาดว่าในห้องดังกล่าวจะมีก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือ "แก๊สไข่เน่า" ทั้งนี้ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2567 เวลา 08.00 น. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชจะนำทีมลงพื้นที่เพื่อสอบสวนเหตุการณ์อย่างละเอียดอีกครั้ง โดยประสานขอใช้เครื่องมือตรวจวัดก๊าซอันตรายในที่อับอากาศจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อยืนยันสาเหตุที่ชัดเจนอีกครั้ง ขณะที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชได้เตรียมยาต้านแก๊สไข่เน่า โซเดียมไทโอซัลเฟทไว้แล้ว
สำหรับแก๊สไข่เน่า เป็นแก๊สที่ไม่มีสี มีกลิ่นเหม็นคล้ายไข่เน่า หนักกว่าอากาศ สามารถพบได้ทั่วไปในธรรมชาติจากการย่อยสลายของซากของเสียและสิ่งมีชีวิต เช่น กระบวนการย่อยสลายซากอินทรีย์สารที่มีธาตุซัลเฟอร์หรือกำมะถันเป็นส่วนประกอบ โดยแบคทีเรียในสภาวะที่ไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่ง กรณีนี้คือใต้ท้องเรือที่เป็นพื้นที่อับอากาศ มีซากปลาเน่าหมักหมม เมื่อสัมผัสหรือสูดดมจะทำให้เกิดการระคายเคืองเนื้อเยื่อ หากสูดดมมากจนแพร่เข้าสู่กระแสเลือดจะทำให้นำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง
พิษจากแก๊สจะเข้าทำลายปอด ทรวงอก ไต ระบบทางเดินอาหาร กระเพาะปัสสาวะ และเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ และหากสูดดมในระดับความเข้มข้นสูง 1,000 - 2,000 ppm จะทำให้หมดสติทันที ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว หากพบผู้ที่ได้รับแก๊สนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยมาอยู่ในที่อากาศถ่ายเทดีให้เร็วที่สุด คลายเสื้อผ้าให้หลวม ถ้าไม่หายใจ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ออกซิเจน และถ้าหัวใจหยุดเต้นให้รีบทำฟื้นคืนชีพ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกัน โดยต้องให้ความรู้แก่ผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานที่อับอากาศ รักษาความสะอาดของสถานที่ ไม่ให้เกิดความหมักหมม
- 195 views