ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฉ.ถอดบทเรียน "สิงคโปร์แอร์ไลน์" เกิดเหตุฉุกเฉิน หมั่นซ้อมแผน คนตัดสินใจหน้างานไม่ลน พร้อมประสานเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ เลขาธิการ สพฉ.ชี้แนวโน้มเกิดหลุมอากาศเยอะขึ้น ต้องเตรียมความพร้อม "ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน"

เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2567 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) จัดการเสวนา “ถอดบทเรียนการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินในสนามบิน กรณีอากาศยานสิงคโปร์แอร์ไลน์เกิดเหตุฉุกเฉิน” โดยนายพงษ์พิษณุ ศรีธรรมานุสาร ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการพื้นที่ 3 สพฉ. กล่าวรายงานว่า ตามหลักการแพทย์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2566 - 2570) มีวิสัยทัศน์ต้องการให้ประเทศไทยมีมาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับสากลที่ประชาชนเชื่อมั่น ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นสังคมแห่งการรอบรู้และเครือข่ายมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง การเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นภาวะฉุกเฉินของชีวิต หากไม่ได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตหรือความพิการได้ 

จากเหตุการณ์ของเครื่องบินโดยสารสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ตกหลุมอากาศอย่างรุนแรง ซึ่งเครื่องบินโดยสารดังกล่าวได้ขอลงจอดฉุกเฉิน ณ สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหากำไร และหน่วยงานต่าง ๆ ได้ให้ความช่วยเหลือ สพฉ.จึงได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินในสนามบิน กรณีอากาศยานสิงคโปร์ปแอร์ไลน์เกิดเหตุฉุกเฉินในวันนี้ขึ้น   

สพฉ.ย้ำ! การเตรียมความพร้อมระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ต้องมีแผน-ซ้อมแผน มีคนตัดสินใจหน้างาน  

ร.อ.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นเหตุการณ์ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นแล้ว การตอบสนองของทีมแพทย์ในสนามบิน และทีมแพทย์ฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้ตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นรูปแบบที่น่าชื่นชม เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว อยากให้มีการถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสายการบิน สนามบินทั่วประเทศ ผู้รับผิดชอบสนามบิน และผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 

ร.อ.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวอีกว่า สพฉ.มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้ปฏิบัติการทั่วประเทศ หน่วยบริการฉุกเฉิน และสถานพยาบาลทั่วประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการฉุกเฉิน โดยได้พัฒนาระบบในพื้นที่และท้องถิ่น อย่างในพื้นที่เฉพาะ นอกเหนืออำนาจท้องถิ่น เช่น การท่าเรือ การทางพิเศษ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สพฉ.พยายามสร้างความร่วมมือให้มีมาตรฐานเดียวกัน เช่นเดียวกับทางน้ำ ได้จับมือกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินทางทะเล อากาศยาน และเรือที่ประสบภัย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ จะสัมพันธ์กัน สพฉ.มีหน้าที่ในการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายให้บริการประชาชน

"ส่วนหนึ่งที่ทำสำเร็จคือมีแผน มีการซ้อมแผน และมีคนตัดสินใจหน้างาน ไม่ลน ระดมทรัพยากรจากภายนอก ทีมแบคอัพของระบบก็มีความสำคัญ เพราะที่สนามบินมีแพทย์ รถพยาบาลอยู่จำนวนหนึ่ง มีโรงพยาบาลเอกชนเป็นพาร์ทเนอร์ด้วย แต่ยังไม่เพียงพอ สพฉ.จะเข้ามาช่วยได้เพราะมีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ และเชื่อว่าสถานการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นอีกที่ไหนก็ได้ มีการคาดการณ์ว่า ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลก มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดหลุมอากาศอีกหลายเท่า จึงมีความจำเป็นในการเตรียมความพร้อม ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ให้สนามบินทุกแห่งมีความพร้อม เพื่อให้ทุกคนปลอดภัย" ร.อ.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว

สนามบินสุวรรณภูมิ ใช้แผนบทที่ 3 เหตุวิกฤตในอากาศยาน มีเวลาเตรียมตัว 30 นาที

นายกิตติพงษ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า สนามบินสุวรรณภูมิโดยฝ่ายการแพทย์ ได้รับการแจ้งเหตุ เวลา 15.18 น. จากสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ว่า ประสบอุบัติเหตุตกหลุมอากาศ มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยแผนของสนามบินสุวรรณภูมิมีแผนทั้งหมด 13 แผนในการรองรับ แผนที่ใช้เป็นแผนบทที่ 3 คือ การเกิดเหตุวิกฤตในอากาศยาน ทีมแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เตรียมความพร้อม แม้ยังไม่รู้ตัวเลขผู้บาดเจ็บจริง พร้อมกับประสานศูนย์สั่งการสมุทรปราการให้เตรียมพร้อมรถพยาบาลฉุกเฉิน เพราะจำนวนรถพยาบาลในสนามบินทุกวัน น่าจะไม่เพียงพอ 

ด้าน นพ.พัฒน์พงศ์ โชยนิคม รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัทท่าอากาศยานไทย กล่าวว่า หลังจากได้รับแจ้งเหตุ ทุกฝ่ายก็เตรียมความพร้อม ด้วยแผนฉุกเฉินของท่าอากาศยาน วางแผนบริหารจัดการ มอบหมายงาน และได้รับการยืนยันจากหอบังคับการบินว่ามีเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ โดยมีเวลาเตรียมตัว 30 นาที ด้านการแพทย์มีแผนเผชิญเหตุที่เตรียมพร้อม เมื่อประเมินสถานการณ์ผู้บาดเจ็บ จึงเตรียมโทร 1669 ศูนย์สั่งการสมุทรปราการให้ช่วยเตรียมรถพยาบาลเผื่อไว้ และได้ประสานโรงพยาบาลเอกชนให้เตรียมความพร้อมไว้ด้วย เมื่อเครื่องใกล้ลงจะมีทีมสแตนบายด์ 6 ทีม ตั้งแต่เวลา 15.45 น. จนเครื่องบินถึงประตูในเวลา 15.51 น.  

เปิดแผนฉุกเฉิน ระดมทีมแพทย์ พยาบาล ดูแลผู้บาดเจ็บ

พญ.วิชัญญา บุรีรักษ์ แพทย์ผู้เผชิญเหตุและสั่งการ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประเมินสถานการณ์หน้างานก่อน พร้อมเตรียมการล่วงหน้ากับทางทีม 1669 ทีมฝ่ายการแพทย์ได้ติดตามเรดาร์เครื่องบินเห็นว่าเครื่องน่าจะลงจอดเร็วกว่าเวลาที่กำหนด จึงได้ไปรอรับเครื่องบินลงจอด พร้อมสอบถามจากเจ้าหน้าที่สายการบินถึงจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ ได้รับแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิต 1 คน ผู้บาดเจ็บยังไม่ทราบจำนวน อีกทั้งต้องเตรียมความพร้อม เพราะอากาศยานจะต้องจอดอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพราะมีผู้เสียชีวิตต้องดำเนินการต่าง ๆ จนเครื่องลงจอด ทีมแพทย์พร้อมเจ้าหน้าที่สายการบินได้ขึ้นไปบนเครื่อง โดยลูกเรือได้พาไปหลังเครื่องซึ่งผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่อยู่บริเวณนั้น ด้านทีมที่อยู่ที่คลินิกได้วิทยุสอบถามเหตุการณ์หน้างาน จึงขออนุมัติเปิดแผนฉุกเฉิน ต่อมาสนามบินได้ประกาศใช้แผนฉุกเฉินบทที่ 3 ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรายงานกับผู้บัญชาการ จึงได้ถอยภารกิจมารอรับการรายงานตัวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ทีมแพทย์ พยาบาลและคนขับรถ ได้ขึ้นไปดูแลผู้บาดเจ็บ แยกประเภทผู้ป่วยเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง และสีดำ 

ด้านพญ.ธัญธร นพเก้ารัตนมณี หน่วยปฏิบัติการอำนวยการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ที่ศูนย์สมุทรปราการมีแผนรับมืออุบัติภัยหมู่ พร้อมซ้อมแผนกับท่าอากาศยานในทุกปี โดยโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ในส่วนของโรงพยาบาลรัฐ คือ โรงพยาบาลบางพลีและโรงพยาบาลบางเสาธง ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้น เมื่อได้รับแจ้งเหตุจากสนามบินสุวรรณภูมิครั้งแรก ยังไม่ทราบจำนวนผู้บาดเจ็บ แต่ทราบว่าเป็นเหตุตกหลุมอากาศ จึงได้ส่งรถพยาบาลพื้นฐาน 1 คัน และรถพยาบาลชั้นสูง 1 คัน ไปยังจุดรวมพลที่กำหนดไว้ เมื่อได้รับแจ้งครั้งที่ 2 หลังผ่านไป 10 นาที ว่ามีผู้บาดเจ็บมากกว่า 10 คน จึงได้เริ่มระดมรถพยาบาล เปิดแผนรับมืออุบัติภัยหมู่

รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ ผ่าตัด 9 เคส ใน 24 ชม.

ร.อ.อ.นพ.ศรันย์ อินทกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวว่า หลังได้รับการแจ้งเหตุมีการประเมินตรวจสอบว่าเข้าข่ายการเป็นอุบัติหมู่ เมื่อเกิน 10 คน จะประกาศโค้ดฉุกเฉินที่ 3 ของโรงพยาบาล เตรียมพร้อม เช็คทั้งบุคลากรและสถานที่ ภายใน 10 นาที โดยผู้บาดเจ็บรายแรกมาถึงใน 1 ชั่วโมง โดยมีผู้บาดเจ็บเข้ามาที่โรงพยาบาลจำนวน 85 คน มีการดูอาการเบื้องต้นที่สนามบิน 19 คน ส่วนผู้ที่ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลมี 41 คน ทั้งนี้ ได้มีการส่งต่อผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท พบว่า ผู้ป่วยไอซียูมีหลายคน ชาวต่างชาติค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ได้เตรียมประสานธนาคารเลือดไว้ล่วงหน้า กรณีเลือดกรุ๊ปพิเศษ Rh Negative ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมหากต้องผ่าตัด

ร.อ.อ.นพ.ศรันย์ กล่าวด้วยว่า มีผู้บาดเจ็บต้องผ่าตัดหลายคน และยังมีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังหลายคนเช่นกัน เนื่องจากไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยขณะนั่งโดยสาร เมื่อตกหลุมอากาศ ตัวก็จะลอยขึ้น ทำให้ศีรษะกระแทกกับที่เก็บสัมภาระ มีอาการบาดเจ็บที่กระดูกต้นคอ เคสที่หนัก ๆ ได้ทำการผ่าตัดฉุกเฉิน ภายใน 24 ชั่วโมงแรก โรงพยาบาลต้องผ่าตัด 9 คน ผู้ป่วยยังอยู่ระหว่างพักฟื้น ต้องทำกายภาพบำบัด และได้รับการดูแลด้านสภาพจิตใจ ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ยังอยู่ในโรงพยาบาล 20 คน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง