“สมศักดิ์” เผยการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดต้องใช้เวลา ขอให้สื่อสารความจริงขอนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่า การบำบัดผู้ติดยา ไม่ได้หายทันทีทันใด ย้ำ! ไม่ต้องห่วงกลุ่มสีแดง สีส้มมีเตียงพอรักษา ขณะที่สีเขียวสัดส่วนสูง 79% หรือ 64,274 ราย ส่งต่อชุมชนบำบัด พร้อมชูแนวทางดำเนินงาน Patient journey ด้วยกลไกการขับเคลื่อนระดับจังหวัด และ อำเภอ ทำงานเป็นรูปธรรม 181 อำเภอ
เปิดสาเหตุ สธ.ต้องบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด เหตุอดีตตัดตอนผู้ค้าไม่ได้
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในการประกาศนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2567-2568 ถึงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ว่า นโยบายการบำบัดผู้ติดยาเสพติด เมื่อมีการออกกฎหมายใดๆมา แต่ไม่มีการชี้แจงให้ผู้เกี่ยวข้องรู้จักเครื่องมือก็จะส่งต่อการปฏิบัติได้ และสิ่งสำคัญต้องตัดตอนผู้ค้า หากทำไม่ได้ ในคุกก็จะเต็มไปด้วยผู้ขนยา ส่วนใหญ่มีกว่า 250,000 คน และต่อไปจะเต็มคุกอีก เมื่อใช้นโยบาย 1 ผู้เสพ ต้องมี 1 ผู้ค้ารายย่อย ซึ่งกรณีนี้ต้องสืบย้อนหลังข้อมูลว่า หากค้ามา 10 ปี ก็ต้องคิดมูลค่าแล้วยึดทรัพย์ 10 ปีนั้น หากใช้จุดนี้ได้ กระทรวงสาธารณสุขไม่ต้องมาเหนื่อยแบบนี้
สธ. ต้องบำบัดรักษาเพิ่ม ขอให้อดทน 3 ปีนี้ หาทางออกร่วมกัน
แต่อย่างไรใน 3 ปีนี้ขอให้อดทน เพราะต้องบำบัดรักษากันเยอะ ทั้งผู้ป่วยยาเสพติดกลุ่มอาการสีแดง มีเตียงประมาณ 6,556 เตียง เป็นสีแดงและสีส้ม ซึ่งเวียนๆก็สามารถบำบัดรักษาได้ ไม่ต้องกังวล สาธารณสุขดูแลได้ และยังมีเตียงอื่นๆในรพ.นอกสังกัดกระทรวงฯ จึงต้องมาหารือและทำงานร่วมกัน ร่วมกับความมั่นคงต้องช่วยกันจัดการผู้ค้า ยึดทรัพย์ ตัดวงจรนี้ และต้องหางานคนที่ออกจากคุก ซึ่งกระทรวงยุติธรรมมีโครงการ "นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์" เพื่อให้พวกเขามีงานทำ
“ ส่วนผู้ป่วยอาการสีเขียว ซึ่งการรักษาผู้ป่วยติดยา ไม่ใช่ว่าจะหายเลย เราต้องพูดความจริงให้ประชาชนรู้ ให้เข้าใจว่า กลุ่มอาการนี้ไม่ได้หายทันที ต้องใช้เวลาในการบำบัดฟื้นฟู ซึ่งก็จะมีการบำบัดในกลุ่มสีเขียวผ่านชุมชน ทำงานร่วมกัน โดยทั้งหมด ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุข แต่กระทรวงที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อลดปัญหายาเสพติดลง” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ย้ำ! เตียงรักษาผู้ป่วยสีแดง สีส้ม เพียงพอ
นายสมศักดิ์ ยังให้สัมภาษณ์ย้ำว่า การบำบัดรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติดนั้น กลุ่มสีส้ม สีแดง มีสถานพยาบาล เตียงดูแลรักษาเพียงพอ ส่วนสีเหลือง หรือสีเขียว จะไปบำบัดผ่านทางชุมชน ทั้ง CBTx หรือค่ายของทางทหาร ตำรวจ หรือแม้แต่สถานพยาบาลของสังกัดอื่นๆ ก็สามารถร่วมมือกัน มาช่วยเพิ่มเติมได้
แนวทางบำบัดรักษา Patient journey
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประกาศนโยบายสาธารณสุข นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดสธ. กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการแพทย์ ยังกล่าวถึงข้อมูลประเด็นการบำบัดดูแลผู้ติดยาเสพติด และนำเสนอข้อมูลถึงแนวทางการบำบัดรักษา ที่เรียกว่า Patient journey โดยเริ่มจากการค้นหาคัดกรอง ผ่านศูนย์คัดกรองในโรงพยาบาล และในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ประเมินพฤติกรรม โดยผู้ป่วยยาเสพติดอาจมาเอง หรือญาติ ชุมชนนำส่ง รวมไปถึงเจ้าหน้าที่นำส่ง ศาลสั่ง เป็นต้น ซึ่งมีกฎหมายรองรับ จากนั้นทำการประเมินพฤติกรรมว่า มีแนวโน้มก่อความรุนแรงหรือไม่ เพื่อแยกตามกลุ่มสีต่างๆ ทั้งสีแดง สีเหลือง และสีเขียว
อย่างกลุ่มอาการสีแดง สีส้ม มีอาการคลุ้มคลั่ง อาลาะวาด สีส้ม ไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา พูดจาคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว เที่ยวหวาดระแวง 2 กลุ่มนี้นำส่งห้องฉุกเฉิน รพ. เพื่อจัดการภาวะฉุกเฉินและส่งต่อให้จิตแพทย์ดูแล จากนั้นเข้าระบบรักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือรพ.มินิธัญญารักษ์ได้ ส่วนกลุ่มสีเหลือง มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย แต่อยู่ในระดับไม่รุนแรง ส่งต่อรพ.ในพื้นที่ ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรักษา ซึ่งกลุ่มนี้รักษาผ่านมินิธัญญารักษ์ได้ สีเขียว เป็นกลุ่มปกติ ไม่มีอาการทางจิตเวช โดยศูนย์คัดกรองจะต้องประเมินพฤติกรรมการใช้ยาเสพติด มีการติดตาม ส่งต่อบำบัดชุมชน ที่เรียกว่า ชุมชนล้อมรักษ์ หรือ CBTx
กลไกการบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
ขณะที่กลไกการขับเคลื่อนด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด มีโครงสร้างตั้งแต่ คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด รองลงมาผ่านคณะอนุกรรมการระบบ บำบัด ฟื้นฟู และติดตามผู้ติดยาเสพติด ซึ่งจะทำงานระดับจังหวัดด้วยคณะทำงานบูรณาการ คัดกรอง บำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมระดับจังหวัด และยังไปถึงระดับอำเภอ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ พ.ศ.2561 มีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ(พชอ.)
ผู้ป่วยสีเขียวสูงสุด ส่วนใหญ่มาเอง และญาติ ชุมชนนำส่ง
โดย นพ.กิตติศักดิ์ ได้เปิดข้อมูลผ่านสไลด์นำเสนอภายในการประกาศนโยบายเกี่ยวกับสถานการณ์การบำบัดรักษาดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด จากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข (อ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 22 พ.ค.2567) โดยจำนวนรวมการคัดกรองและผู้เข้าบำบัดรายสัปดาห์ (สัปดาห์ 744) คัดกรองสะสม 83,689 ราย บำบัดสะสม 81,159 ราย ขณะที่จำนวนการบำบัด แบ่งตามสีตามกลุ่มอาการ พบสีเขียวมีสัดส่วนสูงสุด 79% หรือ 64,274 ราย รองลงมาสีแดง สีส้มและสีเหลือง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยมาเอง หรือคอลเซนเตอร์ หรือญาติ ชุมชนนำส่งถึง 54% รองลงมาคือ เจ้าหน้าที่นำส่ง
ชุมชนบำบัดทำงานเป็นรูปธรรม 91% ของ 181 จาก 200 อำเภอเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม สำหรับการบำบัดผ่านชุมชนล้อมรักษ์ หรือ CBTx บำบัดสะสมแล้ว 9,291 ราย โดยพบว่า อำเภอที่ดำเนินการ CBTx อย่างเป็นรูปธรรม พบทำได้แล้วถึง 91% ของอำเภอเป้าหมายหรือ 181 จาก 200 อำเภอ (759 ชุมชน) และ 78% ของอำเภอทั้งหมด คือ 687 จาก 880 อำเภอ (2,288 ชุมชน) ทั้งนี้ มีการติดตามผู้ป่วยติดยาที่บำบัดรักษาสิ้นสุดแล้ว 47,009 ราย พบว่า ติดตามครบ ไม่เสพซ้ำ 38,301 ราย ติดตามครบ เซพซ้ำ 3,123 ราย และติดตามไม่ได้ 3,971 ราย เป็นต้น
ข่าวเกี่ยวข้อง :
- “สมศักดิ์” ประกาศนโยบายเดินหน้า 30 บ.รักษาทุกที่ ดันกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ.
-: เปิดนโยบายสาธารณสุข (ปี67-68) 5+5 เร่งรัดพัฒนาสานต่อ
-เดินหน้า "ปราบยาเสพติด" นำร่อง 25 จ. สธ.บำบัดรักษาหวังผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดลดลง
-"เลย-พัทลุง" ตัวอย่าง "บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในชุมชน" เน้นการมีส่วนร่วมแบบบูรณาการ
- 677 views