ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"จ.เลย - จ.พัทลุง" ตัวอย่างการขับเคลื่อนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในชุมชน สอดรับนโยบายรัฐบาล ใช้รูปแบบ Patient journey ตั้งศูนย์ค้นหาคัดกรอง เน้นการมีส่วนร่วมในชุมชนแบบบูรณาการ สามารถลดจำนวนผู้ป่วยจิตเวช-ผู้ติดยาเสพติดได้จริง

วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุมกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดการประชุมมอบนโยบายสาธารณสุข แก่ข้าราชการ บุคลากรทางการแพทย์ ปี 2567-2568 โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรว'สาธารณสุข , นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ., นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการ รมว.สธ., นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษา รมว.สธ. ผู้บริหารกระทรวง อธิบดีกรมต่างๆ และบุคลากร สธ. ทุกจังหวัด เข้าร่วมงาน

ซึ่งในการประชุมประกาศนโยบายยังมีตัวแทนจาก 2 จังหวัด คือ พัทลุง และเลย ที่มีการดำเนินการขับเคลื่อนด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในชุมชน โดย พญ.อภิญญา เพ็ชรศรี นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการประชุมในเวทีใดก็ตามต้องมีการทำความเข้าใจกับหน่วยงานสาธารณสุขว่ก่อนว่าใครทำหน้าที่อะไร จากนั้นสาธารณสุขจังหวัดก็มีการประชุมคณะทำงานบูรณาการคัดกรองบำบัดรักษาทุกเดือน รวมทั้งมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนชุมชนล้อมรักษ์ โดยเชิญ 5 เสาหลัก ทั้ง 11 อำเภอ มาพูดคุยเพื่อให้เกิดทิศทางการขับเคลื่อนเดียวกันและมีประสิทธิภาพสูงสุด  จากนั้นเข้าสู่กลไกการประชุมเตรียมความพร้อมและผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดกลับสู่ชุมชน และซ้อมแผนการนำส่งผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการเสี่ยงก่อความรุนแรงในชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนแบบบูรณาการทั้งฝ่ายการปกครอง ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ สสจ.

 

มีโอกาสเลิกใช้สารเสพติด 45.43% และมีแนวโน้มที่จะกลับมาใช้สารเสพติด 44.6%

สำหรับผลการขึ้นทะเบียน พบว่ามีศูนย์คัดกรอง 136 แห่ง มีสถานพยาบาลยาเสพติด 11 แห่ง สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 1 แห่ง และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 12 แห่ง โดยครอบคลุมทั้ง 11 อำเภอ รวมทั้งมีมินิธัญญารักษ์ดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด จำนวน 2 แห่ง โดยโรงพยาบาลป่าพะยอม 6 เตียง และมีหอผู้ป่วยจิตเวช 1 แห่ง โดยโรงพยาบาลพัทลุง 14 เตียง และมีการจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดจำนวน 11 แห่ง ครอบคลุม 100%  ในส่วนผลการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด มีการคัดกรองทั้งหมด 980 ราย และส่งต่อบำบัดรักษา 315 ราย ทั้งนี้เมื่อปี 2564-2566 ในการจัดสถานที่ฟื้นฟูสมรรถภาพพลเมือง โดยการเข้าค่าย 15 วัน จากการติดตามช่วยเหลือโดยศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมพบจำนวนผู้ติดยาเสพติดที่เข้าร่วม 952 ราย จำนวนผู้ที่ขอรับการช่วยเหลือ 134 ราย จำนวนผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ 84 ราย นอกจากนี้ยังพบว่ามีโอกาสเลิกใช้สารเสพติด 45.43% และมีแนวโน้มที่จะกลับมาใช้สารเสพติด 44.6%

 

การขับเคลื่อนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

ด้านนพ.สมชาย ชมพูคำ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองนายเเพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย กล่าวว่า เป้าหมายการทำงานของการขับเคลื่อนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดจังหวัดเลย จะเน้นผู้ป่วยยาเสพติดทุกระดับความรุนแรง ต้องได้รับการคัดกรอง การประเมิน และให้การบำบัดรักษาตามเกณฑ์มาตรฐานโดยให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้โดยง่าย จังหวัดเลยเป็นหนึ่งพื้นที่ที่มีปัญหาด้านยาเสพติดและมีพรมแดนติดกับประเทศลาว ทั้งในส่วนที่เป็นพื้นดินและแม่น้ำยาวเกือบ 200 กิโลเมตร และพบสถิติการจับกุมตรวจยึดยาเสพติดคดีสำคัญในพื้นที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ปปส.) ภาค 4 เป็นลำดับ 3 

โดยอำเภอที่มีปัญหา คือ อำเภอด่านซ้าย อำเภอเชียงคาน อำเภอปากชม อำเภอท่าลี่ และเมืองเลย ตามลำดับ  ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีการจับกุมคดีสำคัญที่เชียงคานพบของกลางยาบ้าเกือบ 4 ล้านเม็ด ทั้งนี้ได้มีการขับเคลื่อนการบำบัดรักษาโดยมีศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเลย คณะกรรมการอำนวยการตามโครงการดำเนินงานชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติจังหวัดเลย รวมถึง คณะทำงานฝ่ายปฏิบัติการ(ระดับจังหวัด) คณะทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวทางประชารัฐในพื้นที่ระดับอำเภอ และ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ร่วมขับเคลื่อนด้วย

จำนวนของผู้ป่วยจิตเวชและผู้ติดสารเสพติดลดลง

ในส่วนศูนย์คัดกรองมีทั้งหมด 127 แห่ง ส่วนมากจะอยู่ในรพ.สต. มีสถานพยาบาลยาเสพติด 14 แห่ง มีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 33 แห่ง  และมินิธัญญารักษ์ 1 แห่ง ทั้งนี้ปัจจุบันมีผู้ป่วยสีแดงที่อยู่ในการดูแลทั้งหมด 253 ราย ผู้ป่วยสีเหลือง 34 ราย ผู้ป่วยสีส้ม 84 ราย  และผู้ป่วยสีเขียว 841 ราย  โดยผู้ป่วยสีแดงจะได้รับการดูแลเบื้องต้นที่โรงพยาบาลชุมชนและส่งต่อไปที่โรงบาลผู้ป่วยจิตเวช ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองและสีส้มจะได้รับการดูแลจากมินิธัญญารักษ์

ซึ่งหลังจากที่มีแนวทางเหล่านี้จำนวนผู้เข้าร่วมการบำบัดรายเดือนปีงบประมาณ 2566 - 2567 พบว่าจำนวนของผู้ป่วยจิตเวชและผู้ติดสารเสพติดลดลง

 

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

- สธ. เดินหน้า "ปราบยาเสพติด" ตามนโยบายรัฐ นำร่อง 25 จ. หวังผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดลดลง