สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน รอลุ้น! นโยบาย “รมว.สมศักดิ์” แก้ปัญหาบุคลากรสาธารณสุข หากไม่เห็นความสำคัญเตรียมปลุกสหภาพลูกจ้างฯ ร่วมเคลื่อนไหว ชี้ไม่มั่นใจ เพราะที่ผ่านมาเห็นแต่ “กัญชา-ยาเสพติด”  ส่วนผลสำรวจปมแพทย์อินเทิร์นพึงพอใจ ยังมีคำถามเพราะสตาฟแพทย์ รับงานแทนหรือไม่ พร้อมเปิดเหตุผลที่สหภาพฯ ต้องออกมาพูดแทนคนในกระทรวงหมอ  เพราะกลัวหน้าที่การงาน หลายอย่างมีความเหลื่อมล้ำ ค่าเสี่ยงภัยโควิดล่าช้า จนคนทำงานท้อ

 

ทันทีที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นโยบายเด่นชัดที่มีการประกาศออกจากรมว.สาธารณสุข คือ การจัดการปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าจาก 5 เม็ด เหลือ 1 เม็ด และการเดินหน้านำ กัญชา กลับเป็นยาเสพติด ยกเว้นยังใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ ส่วนนโยบายอื่นๆ ยังต้องรอการประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ยืนยัน 4 ข้อเสนอแม้ รมต.เปลี่ยนมาถึง 3 สมัย

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร  ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus เกี่ยวกับการขับเคลื่อนประเด็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ว่า  สหภาพฯ กำลังรอดูนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) คนใหม่  ว่าจะให้ความสำคัญกับบุคลากรฯ หรือไม่ ซึ่งข้อเสนอก็ยังเหมือนเดิม  เพราะเป็นหลักแนวคิดพื้นฐานที่คนทำงานควรได้  ทั้งความมั่นคง ความก้าวหน้า ชั่วโมงการทำงานที่เป็นธรรม และค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับคุณค่าของงาน ซึ่ง 4 ข้อนี้ ที่ผ่านมาในยุค นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรมว.สาธารณสุข ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากพอ อย่างค่าตอบแทน ชั่วโมงการทำงาน ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากหลังจากตอนเข้าไปเรียกร้องในสมัยของนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรมว.สาธารณสุข   

“ส่วนจะประสานเข้าพบกับคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการสธ.คนใหม่หรือไม่นั้น  ทางสหภาพฯ และเครือข่าย ขอรอฟังการแถลงนโยบายของคุณสมศักดิ์ ก่อนว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้ความสำคัญกับบุคลากรหรือไม่ เมื่อเทียบกับช่วงรัฐมนตรีทั้ง 2 คนก่อนหน้านี้ คือ นพ.ชลน่านและนายอนุทิน ” พญ.ชุตินาถ กล่าว

คาดหวัง “สมศักดิ์” แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นพูดถึงนโยบายบุคลากร

พญ.ชุตินาถ กล่าวอีกว่า  ไม่แน่ใจว่า ก่อนหน้านี้ที่กระทรวงสาธารณสุข เคยประกาศเป้าหมายการทำงานควิกวินในปี 2567  ซึ่งพูดถึงความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์ อยู่ใน 13 นโยบายเร่งด่วนหรือควิกวินของสธ. มีสั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องทีม CareD Plus แต่เรื่องอื่นๆ ยังไม่มีการออกมาพูดรายละเอียดที่ชัดเจน หรือความคืบหน้านโยบายสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรอย่างไร แม้แต่เรื่องการผลักดันกฎหมายแยกตัวออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ที่นพ.ชลน่าน เคยประกาศนโยบายไว้ แต่มาในยุคนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรมว.สธ. ก็ไม่รู้ว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร

เห็นแต่นโยบาย “กัญชา-ยาเสพติด”

พญ.ชุตินาถ ย้ำว่า ต้องรอนโยบายที่ชัดเจนของกระทรวงสาธารณสุข ในยุคนายสมศักดิ์ เป็นรัฐมนตรีฯก่อน เพราะอย่างช่วงที่ผ่านมาเห็นข่าว กัญชา ยาเสพติด ก็จะเป็นนโยบายเป็นเรื่องๆ แต่ยังไม่ชัดเจนว่า จะเน้นเรื่องอะไร มีบุคลากรคนทำงานสาธารณสุขอยู่ในนั้นหรือไม่ ซึ่งพวกตนคาดหวังกับรัฐมนตรีใหม่มาก เพราะด้วยตำแหน่ง ถือเป็นหัวหน้างานใหญ่สุดของกระทรวงฯ คนทำงานในกระทรวง และคนทำงานนอกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพย่อมคาดหวัง เพราะปัญหาสาธารณสุข ไม่ใช่แค่กระทรวงเดียว ที่สำคัญเรื่องบุคลากรไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เป็นปัญหาหมักหมมเป็นสิบๆปี เข้าใจว่าการแก้ไขไม่ง่าย แต่ต้องมีสักคนปักธงนโยบายให้ชัดว่าจะแก้ไขอย่างไร

“จนตอนนี้ยังไม่เห็นรมว.สธ.พูดถึงนโยบายบุคลากรเลยแม้แต่นิดเดียว ก็ต้องลุ้นว่า จะมองเรื่องนี้เป็นปัญหาแค่ไหน แต่จริงๆ คนในสธ. ข้าราชการมีความเข้มแข็งพอ และมองเรื่องนี้เป็นปัญหา นโยบายบุคลากรจะไม่กระทบเพราะการเปลี่ยนรมว. แต่จะเคลื่อนไหวได้ภายในตัวข้าราชการมากกว่านี้ ” ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าว

ผลสำรวจสธ.ปมแพทย์อินเทิร์น  

เมื่อถามว่าที่ผ่านมา สธ.มีการแก้ปัญหาภาระงาน โดยเฉพาะแพทย์อินเทิร์น พญ.ชุตินาถ กล่าวว่า  มองว่ายังไม่ต่อเนื่องมากพอ อย่างมีการตั้งคณะทำงาน มีการประชุม มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริง แต่ไม่ได้มีคณะทำงานติดตามเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งจริงๆ กระทรวงสาธารณสุข มีหน่วยงานดูแลเรื่องกำลังคน ควรเป็นโครงสร้างหลักในการติดตามและทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีการทำงานอยู่แล้ว เพียงแต่ควรมีการสื่อสารให้คนทำงาน ให้สาธารณะทราบว่า ขับเคลื่อนได้มากเท่าไหร่ เพราะทุกวันนี้สหภาพฯ ยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากทางบุคลากรที่อยู่ในกระทรวงฯ มาตลอดว่า ภาระงานยังหนักเช่นเดิม อย่างล่าสุดข่าวที่ รพ.ประกาศว่า เหลือหมอ 1 คน นี่ก็เป็นปัญหาการกระจายตัว ซึ่งเจอตลอด

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ปลัดสธ.เผยผลสำรวจ "แพทย์อินเทิร์น" พึงพอใจฝึกเพิ่มพูนทักษะมากขึ้น)

ขอความชัดเจนขวัญกำลังใจบุคลากร “ภาระงาน ค่าตอบแทน”

“ที่ผ่านมามีข่าว ปลัดสธ.แต่งตั้ง  นพ.ภูวเดช สุระโคตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ มาดูนโยบายสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร  แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นข่าวความคืบหน้าในการดำเนินการชัดเจน ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไรต่อ อย่างข่าวล่าสุดเรื่องความพึงพอใจแพทย์อินเทิร์น ก็ยังพบปัญหาค่าตอบแทน ภาระงาน แต่เผยผลสำรวจว่า หมออินเทิร์นพอใจ ตรงนี้เรายังไม่รู้ว่ามีการสอบถามไปที่ไหน   เพราะที่ผ่านมาก็มีหมออินเทิร์นบอกเราว่า ยังมีปัญหาอยู่ ประกอบกับสตาฟ (Staff) หรือ อาจารย์แพทย์ที่มาช่วยงาน ทำให้แบ่งเบาภาระงานหมออินเทิร์น เป็นเรื่องจริง แต่สตาฟก็เจองานหนักแทน” พญ.ชุตินาถ กล่าว

ปลุกสหภาพลูกจ้างฯ ร่วมเคลื่อนไหว  

เมื่อถามว่าหากสุดท้ายนโยบายสาธารณสุข ไม่มีเรื่องบุคลากรจะทำอย่างไร ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าวว่า  หากถึงขั้นที่ผู้บริหาร หลงลืมคนทำงาน ก็จำเป็นที่ระดับคนทำงานต้องเข้าไปส่งเสียงให้ผู้บริหารทราบอีกครั้ง และขอให้กลุ่มสหภาพลูกจ้างรัฐของสาธารณสุข หากถึงจุดนั้นขอให้เข้าไปพบพร้อมกัน เพราะจริงๆ บุคลากรในสธ.ประสบปัญหา มีความเหลื่อมล้ำเยอะ อย่างค่าเสี่ยงภัยโควิดคนทำงานด่านหน้า จนบัดนี้ยังได้ไม่ครบ เรียกร้องแล้วเรียกร้องอีก หลายคนไม่กล้าเปิดหน้า เพราะกลัวมีผลกับงาน

ทำไมคน สธ.ไม่กล้าเปิดหน้า อย่างค่าเสี่ยงภัยโควิด

ถามกรณีบางส่วนอาจมองว่า ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ออกมาให้ข้อมูล แต่ไม่ได้อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข อาจไม่เข้าใจการแก้ปัญหา พญ.ชุตินาถ กล่าวว่า ถ้าไม่ได้อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข จะมีข้อมูลจริงออกมาได้อย่างไร เพราะมี จึงมีข้อมูลออกมา เนื่องจากในสหภาพฯ มีสมาชิกที่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข อยู่ในโรงเรียนแพทย์ อยู่ในสังกัดต่างๆ ทั่วประเทศ ที่สำคัญสัดส่วนที่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข มากที่สุดกว่า 80%  

“บางคนเขารู้สึกไม่ปลอดภัยในการออกมาพูดปัญหาของเขา เพราะกังวลว่า จะมีผลตามมาหากออกมาพูดการทำงานภายในกระทรวงฯ ทำให้เราต้องสลับคนออกมาพูด เพื่อไม่ให้ปัญหาตกไปอยู่กับเพื่อนเรา ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้มีในทุกองค์กร บางครั้งพูดความจริง พูดปัญหาที่เราเจอ อาจไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการฟัง ดังนั้น จะทำอย่างไรที่จะปกป้องเพื่อนของเรา เพื่อต่อสู้ในระยะยาว จึงจำเป็นต้องเอาคนหลายกลุ่มขึ้นมาร่วมกันต่อสู้ จริงๆ ปัญหาบุคลากรไม่ได้จำกัดแค่คนในสธ. กลายเป็นเราวิจารณ์ไม่ได้ เพราะไม่ได้ทำงานในนั้น ทั้งที่ความจริง ทุกคนเคยสัมผัสชีวิตการทำงานในกระทรวงสาธารณสุขมากันหมด ต่อให้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่เมื่อเจอปัญหาและไม่เปลี่ยนแปลง ทุกคนก็มีสิทธิวิจารณ์ได้” พญ.ชุตินาถ กล่าว

ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า จริงๆ หากกระทรวงสาธารณสุข สามารถเป็นพื้นที่ที่ทุกคนแสดงความคิดเห็น หรือพูดได้อย่างปลอดภัย ว่าปัญหาคืออะไร ก็จะไม่จำเป็นต้องให้สหภาพฯ พูดด้วยซ้ำ ทุกคนจะขึ้นมาพูดได้เต็มไปหมด แต่ว่ายังไม่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยนี้ได้ จึงต้องหมุนคนจากสหภาพฯ มาพูดแทน อย่างค่าเสี่ยงภัยโควิด ไม่มีใครกล้าพูด ต้องพูดในโซเชียลฯกันแทน ไม่กล้าเปิดเผยตัวก็มี

 

 

อ่านความคิดเห็นบุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุข ต่อ รมว.สธ.(สมศักดิ์ เทพสุทิน)

คลิกด้านล่าง