ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล เผยผลสำรวจประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป กว่า 1.3 พันตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 14-15 พ.ค.67 พบเห็นด้วยกว่า 60% นำกัญชากลับเป็นยาเสพติด ส่วนนโยบายประโยชน์ทางการแพทย์เห็นด้วยถึง 74.58%  แต่ไม่เห็นด้วยถ้าออกนโยบายหนุนผลิตภัณฑ์กัญชา 19.39% มีเพียง 3.21% เห็นด้วยใช้เพื่อความบันเทิง

 

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม   ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “กัญชาเป็นยาเสพติด?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการนำกัญชากลับเข้าบัญชียาเสพติดของรัฐบาล การสำรวจอาศัย การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

53.74% มองกัญชาเป็นยาเสพติด แต่มีประโยชน์

                จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับกัญชาเป็นยาเสพติด พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 53.74 ระบุว่า เป็นยาเสพติด แต่ก็มีประโยชน์ รองลงมา ร้อยละ 33.59 ระบุว่า เป็นยาเสพติดและไม่มีประโยชน์ใด ๆ ร้อยละ 11.60 ระบุว่า ไม่เป็นยาเสพติด และร้อยละ 1.07 ระบุว่า ไม่แน่ใจ

 

74.58%เห็นด้วยหากใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

                ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดนโยบายกัญชาของรัฐบาล พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 74.58 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการรักษาโรค รองลงมา ร้อยละ 19.39 ระบุว่า รัฐบาลไม่ควรออกนโยบายใด ๆ เพื่อสนับสนุนกัญชา/ผลิตภัณฑ์กัญชา ร้อยละ 10.53 ระบุว่า เพื่อสนับสนุนการสร้างผลิตภัณฑ์กัญชาที่ถูกกฎหมาย ร้อยละ 7.40 ระบุว่า เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้ประชาชนทั่วไป ร้อยละ 3.21 ระบุว่า เพื่อสนับสนุนความบันเทิงในสังคม เช่น การเสพกัญชาได้ถูกต้องตามกฎหมาย การมีบุหรี่กัญชา เป็นต้น และร้อยละ 0.99 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

เห็นด้วยนำกัญชา กลับเป็นยาเสพติด 60.38%

                ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อการนำกัญชากลับเข้าบัญชียาเสพติดอีกครั้ง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 60.38 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 15.27 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 14.50 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 8.93 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

เห็นด้วยควรจ่ายชดเชยผู้ปลูก-ธุรกิจกัญชา 

                สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ปลูกกัญชาหรือนักธุรกิจกัญชา หากรัฐบาลนำกัญชากลับเข้าบัญชียาเสพติดอีกครั้ง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 46.95 ระบุว่า รัฐบาลไม่ควรจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ใดเลย รองลงมา ร้อยละ 35.03 ระบุว่า รัฐบาลควรจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ปลูกกัญชาและนักธุรกิจกัญชา ร้อยละ 10.08 ระบุว่า รัฐบาลควรจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ปลูกกัญชาเท่านั้น ร้อยละ 2.06 ระบุว่า รัฐบาลควรจ่ายค่าชดเชยให้กับนักธุรกิจกัญชาเท่านั้น และร้อยละ 5.88 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ    

 

                ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชาของประชาชน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 68.93 ระบุว่า ไม่เคยมีประสบการณ์ใด ๆ เกี่ยวกับกัญชา ขณะที่ ร้อยละ 31.07 ระบุว่า เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชา เมื่อพิจารณาตัวอย่างที่ระบุว่า เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชา (จำนวน 407 หน่วยตัวอย่าง) พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 52.58 เคยมีประสบการณ์การใช้กัญชาเพื่อประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม รองลงมา ร้อยละ 34.64 ระบุว่า การเสพหรือสูบกัญชา ร้อยละ 22.36 ระบุว่า การใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค ร้อยละ 15.97 ระบุว่า การปลูกกัญชา และร้อยละ 0.98 ระบุว่า การแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชาในเชิงพาณิชย์ และการค้ากัญชา ในสัดส่วนที่เท่ากัน

 

                เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.47 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.79 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.43 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.97 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.79 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.24 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.76 เป็นเพศหญิง

 

                ตัวอย่าง ร้อยละ 16.11 อายุ 15-25 ปี ร้อยละ 17.09 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 17.56 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 25.42 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.82 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.95 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.06 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.99 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ

 

                ตัวอย่าง ร้อยละ 38.32 สถานภาพโสด ร้อยละ 59.01 สมรส และร้อยละ 2.67 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 20.08  จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 36.64 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.86 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 30.38 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.04 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

 

                ตัวอย่าง ร้อยละ 9.62 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.58 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.85 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 9.16 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.13 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 24.96 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 8.70 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

 

                ตัวอย่าง ร้อยละ 29.39 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 17.10 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 27.33 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 10.46 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.89 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.04 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 6.79 ไม่ระบุรายได้