โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ชี้โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่พบความดันโลหิตอยู่ในระดับสูงผิดปกติ มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ต้องคอยควบคุมอาการไปตลอด เสี่ยงภาวะแทรกซ้อน แนะวิธีป้องกันต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต จำกัดปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหารไม่เกินวันละ 2 กรัม งดสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนัก และเพิ่มกิจกรรมทางกาย
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567 นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ขนานนาม โรคความดันโลหิตสูงเอาไว้ว่า คือ “ฆาตกรเงียบ” (Silience Killer) สาเหตุมาจากการที่โรคความดันโลหิตสูงสามารถทำลายสุขภาพร่างกายของมนุษย์ และคร่าชีวิตของผู้คนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก เมื่อความดันเลือดในร่างกายสูบฉีดไปสู่หัวใจสูงกว่าปกติ ในเบื้องต้นจะไม่มีอาการของโรค กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว ระดับความดันในเลือดก็สูงจนเกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เส้นเลือดในสมองตีบ แตก ตัน ไตวาย จอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะที่ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตอยู่ในระดับสูงผิดปกติ คือมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม อาจทำให้ผู้ป่วยทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้ โดยผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการแต่อย่างใด แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะตุบๆ บริเวณท้ายทอย ตามัว อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เลือดกำเดาไหล เป็นต้น
นายแพทย์เคย์ เผ่าภูรี หน่วยโรคหัวใจ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันโรคความดันโลหิตสูง สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตดังนี้
1. จำกัดปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหาร องค์การอนามัยโลกกำหนดปริมาณการบริโภคโซเดียมที่เหมาะสมไว้คือ ไม่เกินวันละ 2 กรัม
2. งดสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการสูดควันบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยให้มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 18.5 – 22.9 กก./ตร.ม. และมีเส้นรอบเอวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสำหรับคนไทย คือ ผู้ชายไม่เกิน 90 ซม. (36 นิ้ว) และสำหรับผู้หญิงไม่เกิน 80 ซม. (32 นิ้ว)
4. เพิ่มกิจกรรมทางกายหรือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน
5. พักผ่อนให้เพียงพอและรักษาสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ
6. วัดความดันโลหิตเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจและรักษาต่อไป
- 168 views