คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา-สสส. จัดกิจกรรม “Back to school ยกมือข้ามถนน หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย” ขับเคลื่อนรณรงค์ยกมือหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย โดยเฉพาะหน้าโรงเรียน-ตลาด-ชุมชน ชูสัญลักษณ์ยกมือก่อนข้าม-ลดความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม.-สวมหมวกกันน็อกทุกครั้ง
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ที่ รร.สันติราษฎร์วิทยาลัย คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “Back to school ยกมือข้ามถนน หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย” ขับเคลื่อนรณรงค์สร้างความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า จากการรณรงค์ หยุดสูญเสีย หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ความดีที่คุณทำได้ ได้ผลักดันความปลอดภัยบนทางม้าลาย ทั้งกลุ่มคนเดินข้ามและผู้ขับขี่ยานพาหนะ ทุกภาคส่วนยังรณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยการลงมาทำกิจกรรมครั้งนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 บริเวณหน้า รร.สันติราษฎร์วิทยาลัย เคยเกิดเหตุนักเรียน 3 ราย ได้รับบาดเจ็บเหตุรถยนต์ชนนักเรียนข้ามถนนบนทางม้าลาย จึงได้ร่วมกับ กทม.ทั้งส่วนสำนักงานเขต สำนักจราจรและขนส่ง กทม. หาทางแก้ไขจุดเสี่ยง เพื่อลดอุบัติเหตุ
“กิจกรรม “ยกมือข้ามถนน หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย” เป็นการเน้นย้ำถึงความปลอดบริเวณหน้าโรงเรียน ตลอดเขตชุมชน ตลาด โรงพยาบาล สร้างความตระหนักทั้งผู้ใช้ทางม้าลาย แสดงสัญลักษณ์การยกมือขณะข้ามทางม้าลายเป็นการขอทาง ผู้ขับขี่เห็นสัญลักษณ์ต้องหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย และให้เด็กนักเรียนมีความเข้าใจด้านความปลอดภัยทางถนน พร้อมปลูกฝังความรู้เด็ก-เยาวชนรู้กฎจราจรตั้งแต่วัยเยาว์” นายสุรชัย กล่าว
นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สสส. ได้ร่วมกับคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ วุฒิสภา ขับเคลื่อนรณรงค์ให้ผู้ขับขี่ชะลอหยุดรถตรงทางม้าลาย ลดความเร็วเขตชุมชน และสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ มาอย่างต่อเนื่อง กิจกรรม “Back to school ยกมือข้ามถนน หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างวัฒนธรรมการยกมือข้ามถนน โดยเชิญชวนนักเรียน ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง คนข้ามถนน สร้างวัฒนธรรมยกมือขึ้นสูงเหนือศีรษะแสดงสัญลักษณ์ให้ผู้ขับขี่รถมองเห็นชัดเจนว่ากำลังจะข้ามถนนที่ทางม้าลาย นอกจากนักเรียนได้เรียนรู้ในวันนี้แล้วยังสามารถบอกต่อไปยังผู้ปกครองให้ใช้ถนนอย่างปลอดภัยได้อีกด้วย นอกจากความปลอดภัยบริเวณทางม้าลายแล้ว ความปลอดภัยเรื่องรถรับ-ส่งนักเรียนก็มีความสำคัญเช่นเดียวช่วงนี้หลายโรงเรียนทยอยเปิดเทอมผู้ประกอบการที่ให้บริการรถรับ-ส่งนักเรียน ควรตรวจสภาพรถให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยและรถขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่ง พร้อมติดป้าย “รถโรงเรียน” ให้เห็นชัดเจน สำคัญที่สุดต้องขับขี่ด้วยความปลอดภัย
ประเด็นที่สำคัญของการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนที่ต้องทำให้ได้ คือ
1. ฝึกฝนให้เด็กๆ ก่อนข้ามทางม้าลายมองขวามองซ้ายให้ดีพร้อมยกมือก่อนข้าม
2. ผู้ขับขี่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ความเร็วบริเวณหน้าโรงเรียน ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
3. การสวมหมวกนิรภัยทั้งคนขับ และคนซ้อน เพราะการสวมหมวกนิรภัย สามารถลดการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ และเป็นอุปกรณ์สร้างความปลอดภัยให้ตัวเอง และบุตรหลาน
ดร.เจนการณ์ เพียงปราชญ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุบนทางม้าลาย และอุบัติเหตุหน้าโรงเรียนเกิดบ่อยครั้ง เกิดจากสถานที่ตั้งโรงเรียนใกล้กับสี่แยกพญาไท ที่มีผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก เวลารถออกตัวจากสี่แยกต้องใช้ความเร็ว ทำให้รถที่สัญจรไม่ทันได้ระวัง บางคันขาดความรอบคอบ ระมัดระวัง ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ทางโรงเรียนพยายามลดอุบัติเหตุ เริ่มจากสร้างความตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัย และกฎจราจรให้นักเรียน-ผู้ปกครอง เช่น ยกมือสัญลักษร์มองซ้ายมองขวาก่อนข้ามทางม้าลาย ผู้ปกครองที่รับส่งนักเรียนสวมหมวกนิรภัย100% คาดเข็มขัดนิรภัยทุกรครั้ง และเคารพกฎจรจร นอกจากนี้ได้ขอความร่วมมือจากทางตำรวจ เทศกิจ ให้ช่วยอำนวยความสะดวกในตอนเช้า และตอนเย็น ขอขอบคุณสสส. และวุฒิสภาที่ได้เข้ามาให้ความรู้เรื่องการรณรงค์ในการเดินข้ามถนน ซึ่งโรงเรียนมองว่าเป็นสิ่งที่ดีในการช่วยกันลดอุบัติเหตุได้มากขึ้น
- 143 views