จากกรณีนายกรัฐมนตรีสั่งกระทรวงสาธารณสุข แก้ไขกฎกระทรวงกำหนดปริมาณครอบครองเพื่อเสพ ปรับลดเหลือ 1 เม็ด กสม.ชี้นโยบายไม่สอดคล้องกับระดับสากล ห่วง! เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง แนะใช้มาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดแทนมาตรการทางกฎหมายในส่วนของผู้เสพ

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุว่า กสม.ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพราะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ความปลอดภัยของสังคม และเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ แต่การกำหนดนโยบายหรือมาตรการใด ๆ จะต้องคำนึงถึงการลงโทษที่ได้สัดส่วน และต้องมีกรอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยความชอบธรรม บทเรียนจากนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ปี พ.ศ.2546-2547 ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้าง ทั้งผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน เกียรติยศชื่อเสียง และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย

ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในวาระพิเศษว่าด้วยสารเสพติดปี 2016 (United Nations General Assembly Special Session on Drugs-UNGASS) ได้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์มาตรการแนวทางต่าง ๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ดำเนินการมากว่า 50 ปี ที่ประชุมมีข้อสรุปเปลี่ยนแนวคิดจากการทำให้ยาเสพติดหมดไปจากโลก (Drug free world) มาเป็นสังคมที่ปราศจากผลกระทบจากยาเสพติด (A society free of drug abuse) ยอมรับการมีอยู่ของยาเสพติดในสังคม และมีข้อเสนอต่อมาตรการการแก้ไขปัญหายาเสพติดในส่วนของผู้เสพโดยถือว่าเป็นผู้ป่วย

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การนำแนวคิดสิทธิมนุษยชน มาตรการด้านสาธารณสุขและมาตรการทางสังคม รวมทั้งมาตรการการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) มาใช้แทนมาตรการทางกฎหมายหรือการลงโทษทางอาญา จะเกิดประสิทธิภาพมากกว่า ส่วนผู้ผลิตและผู้ค้ารายใหญ่ยังคงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายในการจับกุมและลงโทษอย่างจริงจังต่อไป ซึ่งประเทศไทยได้นำแนวคิดดังกล่าวมาบรรจุไว้ในประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564  แต่ในทางปฏิบัติยังเป็นปัญหาอยู่มาก ระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และระบบบริการสำหรับผู้เสพยาเสพติดเป็นครั้งคราว ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพและมาตรฐาน การส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดฟื้นฟูแทนการนำตัวไปบำบัดนอกชุมชนยังเกิดขึ้นน้อยมาก รวมทั้งการปราบปรามผู้ผลิต ผู้ค้ารายใหญ่ ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในสังคมยังทำได้น้อยมาก

การที่นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ดำเนินการปรับปรุงประกาศ/กฎกระทรวงเพื่อกำหนดปริมาณการครอบครองเมทแอมเฟตามีน โดยให้ถือว่าการครอบครอง 1 เม็ด เป็นผู้ค้าและให้ยึดทรัพย์ได้นั้น กสม. เห็นว่านโยบายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกฎหมายและทิศทางการแก้ปัญหายาเสพติดในระดับสากล และมีข้อห่วงกังวลว่านโยบายดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง ความผิดฐานเสพยาเสพติด ครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ ครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย กฎหมายปัจจุบันถือเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งการที่จะถูกดำเนินคดีในข้อหาใดต้องพิจารณาจากพฤติการณ์และเจตนาของผู้กระทำประกอบ ไม่ใช่จำนวนยาเสพติดที่ครอบครองเพียงอย่างเดียว

ดังนั้น นโยบายของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว จึงอาจส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนดังที่เคยเกิดขึ้นในช่วงการประกาศสงครามกับยาเสพติดเมื่อปี 2546 การจับกุมดำเนินคดีกับผู้เสพโดยนำตัวไปขังในเรือนจำ ทั้งที่ควรนำไปรับการบำบัดรักษา จะกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งของรัฐ และเป็นตราบาปติดตัวคนเหล่านี้ เพราะจะมีประวัติอาชญากร ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ กลายเป็นคนพิการทางสังคม และเท่ากับผลักให้พวกเขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งในประเด็นดังกล่าวมีกรณีร้องเรียนมาที่ กสม. ด้วย

กสม. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) มาใช้ในการแก้ปัญหาในส่วนของผู้เสพอย่างจริงจัง โดยสนับสนุนให้ชุมชนและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมดำเนินการ ยึดหลักการผู้เสพคือผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากร สนับสนุนให้ชุมชนพัฒนานวัตกรรมการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เพื่อคืนคนเหล่านี้ให้ชุมชนและสังคมต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

- 17 พ.ค.นี้  เปิดรับฟังความคิดเห็นยาบ้า 1 เม็ด ชี้ทาง อสม.หารายได้แจ้งเบาะแสยาเสพติด

- นายกฯ สั่งสธ. รื้อกฎกระทรวงฯ ยาบ้า 1 เม็ด  ส่วนกัญชาตีกลับยาเสพติด เว้นทางการแพทย์