กลุ่มเขียนอนาคตกัญชาไทย พร้อมเครือข่ายบุก สธ. ยื่นหนังสือ “สมศักดิ์” คัดค้านหากรัฐบาลนำกลับเป็นยาเสพติด ขีดเส้น 15 วันจี้สธ.เปิดข้อมูลเปรียบเทียบโทษกัญชา และเหล้า-บุหรี่ ขอให้จัดทำข้อมูลกัญชาเชิงระบบตั้งกรรมการภายใน 3 เดือน หากยังยืนยันขังคุก “กัญชา” เครือข่ายธุรกิจ -กลุ่มผู้ปลูก บุกทำเนียบ 28 พ.ค. เตรียมฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้อง ด้าน “สมศักดิ์” รับเรื่องด้วยตนเอง ย้ำ! ไม่เคยบอกห้ามใช้กัญชาทางการแพทย์ ตั้งโฆษกสื่อสารกัญชา
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 16 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย และรศ.ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม ประธานหลักสูตรกัญชาเวชศาสตร์และสมุนไพรทางการแพทย์ วิทยาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา และอดีตอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วยตัวแทนแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทยฯ รวมถึงตัวแทนผู้ป่วยและเครือข่ายผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ กว่า 80-100 คน เดินทางยื่นหนังสือเรียกร้องต่อรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอคัดค้านการนำ “กัญชา” กลับเป็นยาเสพติด โดย นายสมศักด์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. มารับหนังสือด้วยตัวเอง พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง
บุกทำเนียบ 28 พ.ค.ก่อนฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้องหากกลับเป็นยาเสพติด
นายประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า หากนำกัญชา กลับคืนเป็นยาเสพติด ประชาชนจำนวนมากที่ปลูก และทำร้านกัญชาจะได้รับผลกระทบ 1 ล้านใบอนุญาตปลูก และ 10,000 กว่าใบอนุญาตขาย หากรัฐบาลทำเช่นนั้นจะเกิดความเสียหายมาก ล่าสุดผู้ประกอบการทั่วประเทศจะรวมตัวกันในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ไปยื่นหนังสือและเรียกร้องรัฐบาลรับผิดชอบที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะมีการพิจารณาว่า จะมีการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งหรือทางปกครอง จะต้องไปดูข้อกฎหมายอีกครั้ง เนื่องจากมีความเสียหายทางเศรษฐกิจขึ้นจริง และทางปกครองเชื่อว่าไม่มีความชอบธรรม ในการเปลี่ยนคำสั่งทางปกครอง เพราะมีเหตุไม่มากพอในการเปลี่ยน และการเปลี่ยนเกิดความเสียหายอีก ทั้งนี้ หากมีการฟ้องร้องก็จะดำเนินการกับคณะกรรมการทุกชุดที่มีผลในการนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด
เมื่อถามว่าจะต้องรอคณะกรรมการฯ หรือผลข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบโทษกัญชา กับบุหรี่และเหล้าก่อนหรือไม่ นายประสิทธิ์ชัยกล่าวว่า หากมีเหตุผลจริง มีข้อมูลทางวิชาการจริง ก็มีเหตุผลเพียงพอ แต่รัฐบาลจริงใจก็ต้องมีคณะกรรมการมาศึกษาที่มาจากทุกภาคส่วนจริงๆ มีข้อมูลวิชาการที่เชื่อถือได้เปรียบเทียบออกมาอย่างชัดเจน
สธ.ต้องมีจุดยืนให้ชัดเรื่องกัญชา
ถามต่อว่ามองเรื่องนี้อย่างไร และกระทรวงสาธารณสุขควรแสดงจุดยืนอย่างไร นายประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า จริงๆกระทรวงสาธารณสุขต้องมีจุดยืนให้ชัดเจน อย่างปลัดกระทรวงฯ อยู่มาถึง 3 รัฐมนตรี จึงจำเป็นต้องรับผิดชอบในฐานะข้าราชการสูงสุด ประเด็นคือ จุดยืนในข้าราชการสาธารณสุขเกี่ยวกับกัญชา ต้องชัดเจน เพราะนักการเมืองเปลี่ยนตามนโยบายพรรค แต่ข้าราชการกระทรวงฯ หากไม่มีจุดยืน การกำหนดนโยบายกัญชาก็เพี้ยนหมอ ดังนั้น ปลัดสธ.ต้องมีจุดยืนเอาข้อมูลวิชาการทางการแพทย์ออกมาให้ชัดเจน ไม่ใช่ว่า ไปอิงแต่ฝ่ายการเมือง ย่อมไม่ได้ ไม่ใช่ว่า พอเปลี่ยนยุค เปลี่ยนรมต. ข้อมูลจะเปลี่ยนไปด้วย แบบนี้ไม่ได้
นายประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า กัญชาจะต้องถูกควบคุมซึ่งมีเครื่องหมาย 2 อย่างระหว่าง ‘พระราชบัญญัติกัญชา’ หรือจะควบคุมโดยกฎหมาย ‘ยาเสพติด’ ซึ่งเราต้องวิเคราะห์เครื่องมือที่จะใช้ ถ้านำกัญชากลับเป็นยาเสพติด ก็เท่ากับว่าเอากัญชากลับไปขังคุกใหม่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการรับรองจาก ส.ส.ชุดที่แล้วว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด แล้วมาวันนี้ก็กลับมาใหม่ อย่างไรก็ตาม การออก พ.ร.บ.ควบคุมกัญชา เป็นสิ่งที่ทั่วโลกทำ คือนำข้อดีมาใช้และควบคุมข้อเสีย ซึ่ง พ.ร.บ. สามารถบรรจุเครื่องมือทั้งหมดที่จะควบคุมการใช้ได้ ส่วนความเป็นห่วงเยาวชนใช้กัญชานั้น ต้องมีกฎหมายที่สอดคล้องกับบริบท ณ ขณะนั้น แต่ถ้าเอากลับเป็นยาเสพติดก็จะไม่สามารถออกกฎหมายที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับบริบทได้
“ขอให้ สธ. จัดทำข้อเท็จจริงเปรียบเทียบให้เห็นถึง ข้อดี ข้อเสีย การก่อโรคและการมีคุณสมบัติรักษาโรคระหว่าง สิ่งที่อนุญาตให้อยู่กับสังคมได้ในขณะนี้คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ที่คนเข้าถึงได้ง่ายได้ พร้อมเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้ภายใน 15 วันนับจากวันนี้ โดยขอให้ยึดถืองานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้นอย่าเอาข้อมูลที่ ‘มโนเอาเอง’ จากข่าวที่ออกในสื่อ คำถามคือทำไม สธ. ไม่ทำข้อเท็จจริง กลับไปกลับมา 3 ปีที่แล้วบอกไม่ใช่ยาเสพติด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรมว.สธ. ก็บอกว่าไม่ใช่ยาเสพติด ท่านรมว.คนใหม่มากลายเป็นยาเสพติด ข้อเท็จจริงอยู่ตรงไหน” นายประสิทธิ์ชัยกล่าว
นายประสิทธิ์ชัย กล่าวต่อว่า ประเด็นต่อมาคือ การให้สัมภาษณ์ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งว่าให้เอากลับเป็นยาเสพติด แต่ให้ สธ.ไปศึกษาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กัญชาดีหรือร้ายอย่างไร ถ้าร้ายก็ให้เอากลับเป็นยาเสพติด ถ้าไม่ใช่ก็ให้อยู่ที่เดิม นี่คือความสง่างามของกระบวนการ ไม่ใช่มีธงอยู่แล้วว่าจะเอากลับเป็นยาเสพติด แล้วก็ผลักดันให้กรรมการลงมติ ตนยืนยันว่าจะหารายชื่อบุคคลเหล่านั้น เพื่อไปถามเหตุผลในการเอากัญชากลับเป็นยาเสพติด ถ้าตอบไม่ได้ เจอกันในศาล ทั้งนี้ ขอให้ สธ. จัดทำข้อมูลกัญชาเชิงระบบโดยกรรมการร่วมที่จัดตั้งขึ้นให้ดำเนินการภายใน 3 เดือน โดยระยะเวลาดังกล่าวยังอยู่ในขอบเขตภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมในการได้ข้อมูลและไม่ล่าช้าจนเกินไปในการดำเนินการให้มีกฎหมายควบคุมกัญชา
“ข่าวที่บอกว่ามีคนใช้กัญชาแล้วคลั่ง แต่ถ้าไปดูสายเขียวที่ใช้กัญชา ทำไมไม่คลั่งเสียที แต่มีข่าวคลั่งออกมา ยกตัวอย่าง 2 กรณี คือ ข่าวมีคนใช้กัญชาแล้วไปข่มขืน แต่เมื่อไต่สวนแล้วพบว่า กลัวพ่อแม่ด่าเลยบอกว่าใช้กัญชา เพราะกัญชาไม่ผิดกฎหมาย กรณีที่ 2 ที่บอกว่าเมากัญชาแล้วฆ่าคน พอไต่สวนก็พบว่าเคยใช้กัญชาเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2566 คำถามคือประเทศนี้จะใช้การปั่นในการกำหนดนโยบายหรือจะใช้ข้อเท็จจริง พวกเราผู้ใช้กัญชายินดีให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง” นายประสิทธิ์ชัย กล่าว
รมว.สธ.ลั่นไม่เคยบอกห้ามใช้กัญชาทางการแพทย์
ด้าน นายสมศักดิ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือจากกลุ่มคัดค้านนำกัญชาเป็นยาเสพติด ว่า ในอดีตก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 เราจะได้ยินว่า “กัญชาเป็นยาเสพติด” โดยยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ประกอบด้วย กัญชา กระท่อม เห็ดขี้ควาย ฝิ่น แต่ตนในช่วงที่เป็น รมว.ยุติธรรม ได้เสนอให้มี พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลฯ ซึ่งในกฎหมายระบุว่า ให้ รมว.สธ. ไปออกประกาศรายชื่อยาเสพติดประเภทที่ 5 ที่สามารถประกาศลดหรือเพิ่มได้ ขณะที่เรามีการอนุญาตให้ใช้ “กัญชาทางการแพทย์ สุขภาพและเศรษฐกิจ” ไม่เคยพูดเรื่องสันทนาการเลย ตนเลยไม่เข้าใจว่าวันนี้เราจะงงงวยกันขนาดไหน อย่างไร ถึงได้พูดกันว่ากัญชาจะเป็นยาเสพติดไม่ได้ เถียงกัน เกี่ยงงอนกันเรื่องชื่อ แต่ตนคิดว่าต้องทำให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจ และต้องไม่ขัดกับโลกสากล ทั้งนี้ หากมีกฎหมายต้องทำให้ใช้ได้ง่ายในการแพทย์ การใช้ก็ต้องเขียนให้ใช้ได้ไม่ทำให้ท่านปวดหัว แต่เรื่องของชื่อว่าจะเป็นยาเสพติดหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจ
ตั้ง “หมอวรตม์” นั่งโฆษกสื่อสารข้อมูลกัญชา
“ถ้ายังคิดแบบนี้อยู่อีก ก็ไม่อยากให้กว้างไกลกระหึ่มไป ท่านยื่นหนังสือผม ผมก็จะเอาไปพิจารณา ยืนยันว่าเราจะทำให้เป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ ไม่ใช่สันทนาการ และการจะออกกฎหมาย ประกาศ หรือกฎกระทรวง ก็ต้องทำตามกฎหมาย เพราะ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลฯ ผมเป็นคนเสนอและผมยกเลิกกฎหมายอื่นหมดเลย ซึ่งตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลฯ ก็กำหนดให้ทำกฎหมายรอง เช่น กระท่อม กัญชา ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปี ผมก็ทำกระท่อมจบแล้ว และไม่ใช่เสรีไปทั้งหมด ก็มีขอบเขตไว้ ดังนั้น ผมคิดว่ายังอยู่ครึ่งๆ ที่ถกเถียงกันอยู่ตรงนี้” นายสมศักดิ์กล่าว พร้อมตั้ง ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เป็นโฆษกในการสื่อสารเรื่องกัญชา
4 ข้อเรียกร้องเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชา
สำหรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย แบ่งออกเป็น 4 ข้อ ดังนี้
1.กัญชาควรควบคุมด้วยกฎหมายรูปแบบไหน
ไม่มีใครถกเถียงว่ากัญชาควรควบคุมหรือไม่ ประเด็นที่สังคมนี้ต้องถกเถียงกันคือจะคุมกัญชาด้วยกฎหมายแบบไหน โดยในสถานการณ์ปัจจุบันนี้กัญชาสามารถควบคุมโดยการออกกฎหมายระดับสูงสุดเพื่อควบคุมเชิงระบบให้มีประสิทธิภาพคือกฎหมาย ‘พระราชบัญญัติกัญชา’ หรือ จะควบคุมโดยกฎหมาย ‘ยาเสพติด’ การควบคุมด้วยกฎหมายทั้ง2รูปแบบมีความแตกต่างกัน
1.1การควบคุมโดยกฎหมายยาเสพติด เท่ากับเอากัญชาไปขังคุกและจะทำกติกาให้กลุ่มเฉพาะเท่านั้นที่ปลูกได้เพื่อรองรับมูลค่ากัญชาหลายหมื่นล้านบาท การควบคุมด้วยกฎหมายยาเสพติดคือการปิดโอกาสในการใช้ประโยชน์ของประชาชนและการควบคุมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคก็จะกระทำไม่ได้เพราะจะเกิดกัญชาใต้ดินเต็มไปหมดและนี่คือเหตุผลที่ประเทศเยอรมนีเลือกใช้กฎหมายปกติในการควบคุมเพราะมีประสิทธิภาพมากกว่า
1.2การควบคุมโดยกฎหมายพระราชบัญญัติ มีเป้าหมายสำคัญคือการควบคุมเพื่อดึงข้อดีมาใช้และควบคุมข้อเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติสามารถวางรากฐานการพัฒนาเชิงระบบทั้งการผลิต แปรรูป วิจัยและพัฒนา อีกทั้งจะสามารถออกแบบกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ได้
เมื่อใช้หลักการในการประเมินเครื่องมือในการควบคุมกัญชาว่าจะพบว่าหากต้องการเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ควบคุมได้จริง นำประโยชน์มาใช้ได้จริงและไม่ผูกขาดกัญชาเพื่อคนกลุ่มใด จะต้องใช้กฎหมายปกติที่สามรรถออกแบบกลไกเชิงระบบได้คือกฎหมาย พระราชบัญญัติ
การที่รัฐบาลจะนำกัญชาไปควบคุมโดยกฎหมายยาเสพติดเท่ากับแสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการกลไกที่มีประสิทธิภาพแต่ต้องการกลไกที่สามารถใช้อำนาจควบคุมและทำให้การปลูกกัญชาอยู่ในกลุ่มของตัวเองและกลุ่มทุนที่สนับสนุนพรรคการเมือง
เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยและภาคีจึงเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่าอย่าคอรัปชั่นในกระบวนการจัดทำนโยบาย กัญชาต้องควบคุมด้วยกฎหมายที่มีประสิทธิภาพคือพระราชบัญญัติ
2.มีข้อเท็จจริงใหม่อันใดที่ร้ายแรงอย่างยิ่งจึงต้องเอากัญชากลับสู่บัญชียาเสพติด
การพิจารณานำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดทั้งที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองของกรรมการทุกชุดและผ่านความเห็นชอบในหลักการของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด ฉะนั้นการนำกัญชากลับสู่ยาเสพติดต้องมีข้อเท็จจริงใหม่ หากไม่มีข้อเท็จจริงใหม่แสดงว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขใช้อำนาจในการกำหนดนโยบายแต่ไม่ได้ใช้ข้อเท็จจริง ซึ่งนับเป็นการคอรัปชั่นในกระบวนการกำหนดนโยบาย เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกลับมาใช้ข้อเท็จจริงในการกำหนดและข้อเท็จจริงนั้นจะต้องให้สาธารณะรับทราบ โดยมีข้อเสนอให้ปฏิบัติดังนี้
2.1 ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจัดทำข้อเท็จจริงเปรียบเทียบให้เห็นถึง ข้อดี ข้อเสีย การก่อโรคและการมีคุณสมบัติรักษาโรคระหว่าง สิ่งที่อนุญาตให้อยู่กับสังคมได้ในขณะนี้คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ โดยเปรียบเทียบกับสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตัดสินไปแล้วว่าจะนำสู่บัญชียาเสพติดคือกัญชา เพื่อให้สังคมไทยทั้งหมดเห็นว่า ผู้ใดที่ทุจริตข้อมูล เบี่ยงเบนข้อเท็จจริง เพื่อให้ตัวเองบรรลุเป้าหมายในการควบคุมกัญชา โดยขอให้ยึดถืองานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้นอย่าเอาข้อมูลที่ ‘มโนเอาเอง’ มาใส่ในการเปรียบเทียบครั้งนี้
2.2 เมื่อจัดทำข้อเท็จจริงตามข้อ 2.1แล้วเสร็จ ให้กระทรวงสาธารณสุขสังเคราะฐานข้อมูลที่จัดทำขึ้นว่าสิ่งใดควรนำกลับไปสู่บัญชียาเสพติด สิ่งใดควรอยู่กับสังคม โดยมิให้นำข้อกฎหมายในปัจจุบันมาเกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ โดยให้ใช้คุณสมบัติทั้ง4ประการตามข้อ 2.1เป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์
3.ขอให้รมว.สธ.ทำตามนโยบายที่ถูกต้อง
ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีอ้างคำสัมภาษณ์ของคุณอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในมติชนออนไลน์ ระบุว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้หมายถึงให้เอากลับไปเป็นยาเสพติดแต่ให้ไปศึกษาว่าในช่วง2ปีที่ผ่านมาเกิดผลดีผลเสียอย่างไร หากมีผลเสียมากกว่าก็ให้นำกลับไปสู่บัญชียาเสพติด หากไม่ได้มีผลเสียหายอะไรก็ไม่ต้องนำกลับไป ฉะนั้นการตั้งธงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่าจะต้องเอากลับไปเป็นยาเสพติดจึงเป็นการคอรัปชั่นในกระบวนการกำหนดนโยบาย และการคอรัปชั่นในกระบวนการกำหนดนโยบายจะนำไปสู่การผูกขาดผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มเสมอ
ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตามกระบวนการกำหนดนโยบายที่ถูกต้อง อย่าคอรัปชั่นในกระบวนการกำหนดนโยบาย นั่นคือกระทรวงสาธารณสุขจะต้องแสวงหาความจริงก่อนการตัดสินใจ โดยเสนอให้ตั้งกรรมการร่วมขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อจัดทำข้อมูลกัญชาเชิงระบบ และนำข้อมูลนั้นมาตัดสินใจในการกำหนดนโยบายกัญชา กรรมการร่วมดังกล่าวจะต้องประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาควิชาการ และจะต้องนำเสนอข้อมูลนี้ต่อสาธารณะให้รับทราบโดยทั่วกัน
ข้อเสนอทั้ง3ข้อเป็นข้อเสนอที่ต้องการให้ประเทศไทยกำหนดนโยบายใดๆก็ตามจากข้อเท็จจริง อย่าใช้อำนาจทางการเมืองและความต้องการเฉพาะกลุ่มมากำหนดนโยบายสาธารณะ และเพื่อให้การดำเนินการแล้วเสร็จโดยไวเพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมกัญชาบังคับใช้และเพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองเอากัญชาไปเล่นการเมืองอีกต่อจากนี้ไป เครือข่ายขอให้กระทรวงปฏิบัติตามกำหนดเวลาดังนี้
4.กำหนดระยะเวลาการจัดทำข้อเท็จจริง
4.1การจัดทำข้อเท็จจริงเปรียบเทียบระหว่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ กัญชา ขอให้แล้วเสร็จภายใน 15วันนับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้เพราะข้อมูลทั้งหมดมีอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ส่วนงานวิจัยกัญชาหากกระทรวงสาธารณสุขไม่มีปัญญาในการจัดทำสามารถตั้งคณะทำงานชุดย่อยขึ้นมาเพื่อการแสวงหาข้อมูล
4.2 การจัดทำข้อมูลกัญชาเชิงระบบโดยกรรมการร่วมที่จัดตั้งขึ้นให้ดำเนินการภายใน 3 เดือน โดยระยะเวลาดังกล่าวยังอยู่ในขอบเขตภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมในการได้ข้อมูลและไม่ล่าช้าจนเกินไปในการดำเนินการให้มีกฎหมายควบคุมกัญชา
หากพรรคเพื่อไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต้องการเอาใจประชาชนจากความผิดพลาดในการออกนโยบายยาบ้า5เม็ดแล้วจะบอกกับสังคมว่าพรรคนี้เอาจริงเรื่องยาเสพติดด้วยการนำกัญชากลับไปขังคุกและยังได้ผลประโยชน์ตามมาคือสามารถกำหนดกติกาเฉพาะเพื่อผูกขาดการปลูกกัญชาให้คนบางกลุ่มเท่านั้นที่ปลูกได้ การกำหนดกัญชาเป็นยาเสพติดจึงบรรลุเป้าหมายการควบคุมกัญชาที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านต่อปี
จึงเรียนมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่ายังมีโอกาสในการกลับตัวและให้กำหนดกัญชาจากกลไกที่ถูกต้องเป็นธรรมดังที่เสนอไว้ข้างต้นและอย่าคิดว่าข้อมูลที่เกิดจากการปั่นให้กัญชาเป็นสิ่งเลวร้ายจะสามารถครอบงำประชาชนได้ หลังจากนี้ประชาชนจะรับทราบความจริง และหากยังใช้อำนาจไม่ใช้ข้อเท็จจริง พรรคเพื่อไทยจะได้รับบทเรียนจากสังคม
- 2457 views