ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สป.สธ. ร่วมขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาด ให้หน่วยงานในสังกัดติดตั้ง ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ล่าสุดติดตั้งแล้ว 1,496 แห่ง ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 43,137.43 tonCo2/ปี ลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 392 ล้านบาท/ปี

 

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  เปิดเผยว่า  กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย Smart Energy and Climate Action (SECA) : พลังงานอัจฉริยะและการดำเนินการที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ทุกหน่วยงานในสังกัดใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการสูญเสียพลังงานอย่างไร้ประโยชน์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งข้อมูลล่าสุดถึงเดือนเมษายน 2567 หน่วยงานสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งหมด 1,857 แห่ง ได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,496 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 82.02 ขนาดกำลังการผลิตรวม 75,806.09 กิโลวัตต์ ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 43,137.43 tonCo2/ปี สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 392,238,903 บาท/ปี โดยยังมีหน่วยงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 206 แห่ง

 

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ภายใต้นโยบาย SECA ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ด้วยการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้พลังงานร้อยละ 20, ส่งเสริมการใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า (EV), การปรับปรุงและก่อสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงาน (Energy Building), การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโรงพยาบาล, การเพิ่มศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์ทางไกลเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่ไปรับบริการแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล, การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมูลฝอย/น้ำเสีย โดยใช้หลัก 3R (Reduce, Reuse, Recycle) และการรณรงค์ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ทั้งนี้ มีงานวิจัยของหลายหน่วยงานคาดการณ์ว่า หากการลดก๊าซเรือนกระจกของทุกประเทศยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 2-3 องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษนี้ ดังนั้น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะเรือนกระจก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคน ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง