นายกสภาเทคนิคการแพทย์ เผย “คลินิกเทคนิคการแพทย์” มั่นใจระบบเบิกจ่าย สปสช. สมัครร่วมบริการ “30 บาท รักษาทุกที่ฯ” มากขึ้น พร้อมยกระดับบริการ “เจาะเลือดผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่บ้าน” เพิ่มความสะดวก ไม่ต้องเคลื่อนย้าย ลดค่าเดินทาง 

วันที่ 11 พ.ค. 2567 ทนพ. สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่จดทะเบียนทั่วประเทศประมาณ 800 แห่ง และในจำนวนนี้ได้สมัครลงทะเบียนร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท โดยร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมสาธารณสุขวิถีใหม่ เพื่อดูแลประชาชนผู้มีสิทธิแล้วประมาณ 90 แห่ง และคาดว่าจะมีคลินิกเทคนิคการแพทย์ทยอยสมัครเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ที่มีคลินิกเทคนิคการแพทย์ร่วมเป็นหน่วยบริการไม่มาก เนื่องจากคลินิกเทคนิคการแพทย์อาจไม่มั่นใจว่า เมื่อเข้าเป็นหน่วยบริการในระบบกับ สปสช. แล้วจะได้รับชดเชยค่าบริการอย่างไร ล่าช้าหรือไม่ อีกทั้งยังไม่มั่นใจด้วยว่าโรงพยาบาลแม่ข่าย จะส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) มาให้กับคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่เป็นลูกข่ายเพื่อทำการตรวจหรือไม่ด้วย เพราะการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลมารับบริการที่หน่วยบริการนอกโรงพยาบาลถือเป็นนวัตกรรมบริการรูปแบบใหม่ 

อย่างไรก็ตาม จากที่สภาเทคนิคการแพทย์ได้หารือและประสานการทำงานร่วมกันกับ สปสช. อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นสร้างความมั่นใจให้กับคลินิกเทคนิคการแพทย์ทั่วประเทศที่จะเข้าร่วม โดยเฉพาะการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ รวมถึงการบริหารจัดการด้านต่างๆ ก็ทำให้คลินิกเทคนิคการแพทย์ในกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ สมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการเพิ่มมากขึ้น 

ทนพ.สมชัย กล่าวว่า นอกจากการร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. ที่ให้บริการตรวจแล็บตามชุดสิทธิประโยชน์บัตรทองฯ ที่ครอบคลุมการเจาะเลือด ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ - อุจจาระ เพื่อประโยชน์ทางการวินิจฉัยของแพทย์ การติดตามการรักษา การพยากรณ์โรคแล้วนั้น ขณะนี้สภาเทคนิคการแพทย์ได้ร่วมกับ สปสช. ในการให้บริการเจาะเลือดผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่มีภาวะติดบ้านติดเตียงด้วย โดยมีนักเทคนิคการแพทย์เข้าไปเจาะเลือดให้ผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งช่วยให้ลดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและลดค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวผู้ป่วยด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ที่เข้ามาเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการให้มากขึ้นด้วย

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เพื่อให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองสามารถเข้าถึงบริการได้โดยสะดวก สปสช. จึงได้ร่วมมือกับสภาวิชาชีพทางการแพทย์ในการดึงสถานพยาบาลภาคเอกชนแต่ละสาขาให้เข้ามาร่วมให้บริการในระบบบัตรทอง ภายใต้ “หน่วยบริการนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่” โดยคลินิกเทคนิคการแพทย์จะเข้ามาช่วยให้ผู้ป่วยในระบบเข้ารับการตรวจทางห้องแล็บได้โดยสะดวก และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้อีกด้วย  

 

ทั้งนี้ผู้ป่วยบัตรทองสามารถเข้ารับบริการคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ร่วมให้บริการกับ สปสช. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตามชุดสิทธิประโยชน์ 24 รายการ ได้แก่ 1. บริการเจาะเลือดสำหรับผู้ป่วยนอก รวม 22 รายการ ซึ่งต้องมีใบสั่งตรวจแล็บจากหน่วยบริการที่ดูแล อาทิ การตรวจความเข้มข้นของเลือด การตรวจปัสสาวะ-อุจาระ การตรวจวัดระดับน้ำตาล การตรวจการทำงานของตับ-ไต รวมถึงบริการตรวจไวรัสตับอักเสบชนิดบี เป็นต้น 2.บริการที่เป็นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 2 รายการ ไม่ต้องมีใบสั่งตรวจแล็บ คือ บริการตรวจปัสสาวะเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์หรือบริการชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง และบริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ด้วยวิธีการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (กลุ่มเป้าหมายอายุ 50-70 ปี) สำหรับประชาชนตามกลุ่มเป้าหมายทุกสิทธิการรักษาพยาบาล 

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ในส่วนคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุขและและผ่านการพิจารณาคุณสมบัติการเข้าร่วมให้บริการจากสภาเทคนิคการแพทย์ ก็สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ซึ่งรายละเอียดต่างๆ สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 จะมีเจ้าหน้าที่คอยตอบทุกคำถาม แลยะพร้อมอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียน 

"หากคลินิกเทคนิคการแพทย์เข้าร่วมเป็นคลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่นมากขึ้น ก็จะช่วยให้ประชาชนลดค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจแล็บ แต่สามารถไปยังคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่อยู่ใกล้บ้านได้เลย ซึ่งเมื่อรับบริการตรวจแล็บแล้ว ผลการตรวจก็จะส่งกลับไปยังโรงพยาบาลให้กับแพทย์ที่ดูแล ใช้ในการวินิจฉัยโรค หรือทำการรักษาต่อไป อีกทั้ง โรงพยาบาลก็จะลดภาระงานในส่วนนี้ออกไปได้ด้วย"  รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว