กรมอุตุนิยมวิทยา คาดครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคม อาจมีพายุไซโคลนก่อตัวในทะเล เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงน้ำล้นตลิ่งได้ กรมอนามัย เตรียมส่ง ทีม SEhRT ปฏิบัติงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานในระดับพื้นที่ พร้อมรับมือสถานการณ์ ดูแลสุขภาพประชาชนจากพายุฤดูร้อน สำรวจจุดกำหนดศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิงชั่วคราว
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์พายุฤดูร้อนในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยเกิดพายุ ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และมีลูกเห็บตกบางแห่ง ส่งผลให้หลายจังหวัดได้รับผลกระทบ และจากข้อมูลรายงานสถานการณ์วาตภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 พบว่า มีพื้นที่ได้รับผลกระทบมากถึง 7 จังหวัด ได้แก่
- ลำพูน
- พิจิตร
- เชียงราย
- ตาก
- เพชรบูรณ์
- กำแพงเพชร
- อุบลราชธานี
ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ตลอดจนบ้านเรือนพังเสียหายหลายครัวเรือน ซึ่งพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและเชียงราย มีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ และจากสถานการณ์พายุและฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ประกอบกับข้อมูลของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติที่มีการติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคม 2567 จะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน อุณหภูมิจะลดลง มีฝนตกชุกเพิ่มมากขึ้น และอาจมีพายุไซโคลนก่อตัวในทะเล ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงน้ำล้นตลิ่งได้
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย มีความห่วงใยสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากพายุฝนและน้ำท่วมฉับพลัน จึงมอบหมายให้ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 1 -12 และสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ประสานการดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมกับหน่วยงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ดำเนินการ ดังนี้
1) สำรวจและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พื้นที่เสี่ยงซ้ำซาก สำรวจจุดกำหนดศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิงชั่วคราวร่วมกับพื้นที่ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดสถานการณ์น้ำท่วม
2) สื่อสารให้ความรู้และแจ้งเตือนประชาชนเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เน้นย้ำการดูแลสุขลักษณะส่วนบุคคล และการเตรียมสิ่งของที่จำเป็นในช่วงน้ำท่วมให้พร้อม เช่น เจลล้างมือ สบู่ แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือให้สะอาด ให้ความรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพน้ำใช้ในครัวเรือนในช่วงน้ำท่วมและน้ำไม่สะอาดด้วยการใช้คลอรีน สารส้ม และการจัดการสิ่งปฏิกูลจากการขับถ่ายกรณีส้วมที่บ้านใช้งานไม่ได้หากน้ำท่วมขับด้วยปูนขาว และส้วมฉุกเฉิน รวมทั้ง ให้คำแนะนำในการเลือกรับประทานอาหาร และดื่มน้ำสะอาด ลดเสี่ยงโรค
3) สนับสนุนการประเมินความเสี่ยง และเฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโรคในน้ำอุปโภคบริโภค ตลอดจนอาหารการกินต่าง ๆ ที่มาจากภาวะน้ำท่วม ทั้งในชุมชน และศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิงชั่วคราวในพื้นที่ประสบภัยที่ทางหน่วยงานภาครัฐเตรียมไว้ เพื่อเป็นการสร้างเสริมด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมลดความเสี่ยงประชาชน
สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมฉับพลัน ขอให้ปฏิบัติตน ดังนี้
1) ติดตามสถานการณ์การเกิดพายุฝนอย่างต่อเนื่อง ฟังการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานในพื้นที่
2) ตรวจสอบบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพแข็งแรง โดยเฉพาะหลังคาบ้าน หน้าต่าง ป้องกันลมแรงพัดบ้านพังเสียหาย สำรวจดูแลสภาพแวดล้อมรอบบ้านให้ปลอดภัย เช่น ตัดแต่งต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการหักโค่น และจัดเก็บสิ่งของที่ปลิวล้มได้ให้มิดชิด หรือผูกยึดไว้ให้มั่นคง
3) ในช่วงที่มีพายุหรือมีฝนตกหนัก ให้หลีกเลี่ยงการออกไปนอกตัวอาคารบ้านเรือน หรืออยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง และหลบในบ้านหรืออาคารที่มีความแข็งแรง
4) หลีกเลี่ยงการเล่นหรือเดินลุยน้ำท่วมขัง เพราะอาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ตา จมูก และปาก อาจก่อให้เกิดภาวะการติดเชื้อ หรือเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า โรคเชื้อราบนผิวหนัง ซึ่งส่งผลกระทบและเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพได้
5) ดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มที่มีโรคประจำตัว
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า ประชาชนควรเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเอง ดังนี้ 1) กรณีอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้เตรียมยกของขึ้นบนชั้นบน หรือที่สูงให้พ้นจากระดับน้ำท่วม เตรียมกระสอบทรายปิดช่องทางน้ำไหลเข้าบ้าน 2) ก่อนการแจ้งให้อพยพออกจากพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมฉับพลัน ขอให้ประชาชนทุกคนเตรียมความพร้อมของตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก คนแก่ คนท้อง รวมถึงผู้ป่วยเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหว ให้เตรียมยารักษาโรค ยาประจำตัว น้ำดื่มสะอาด สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เพื่อสามารถอพยพไปในพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างรวดเร็ว และ 3) หากมีการแจ้งเตือนให้อพยพในพื้นที่ ให้ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า เตาแก๊ส ยกเบรกเกอร์ ก่อนออกจากบ้าน ป้องกันไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าช็อตอาจเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตได้ ทั้งนี้ การเตรียมการที่ดีเป็นการช่วยลดผลกระทบและความเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิตได้
- 105 views