"หมอสุระ" อธิบดีสบส. เผยเส้นทางค่าป่วยการ จาก 600 บาท สู่ 2,000 บาทต่อเดือน กับบทบาทการทำงานมากกว่า 4 ทศวรรษ ของ อสม. ที่เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือประชาชนให้มีสุขภาพดีขึ้น ตามระบบสาธารณสุขมูลฐาน พร้อมขับเคลื่อนการบริการสุขภาพปฐมภูมิให้เข้มแข็ง
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือที่เรียกว่า อสม. คือ ประขาชนที่มีจิตอาสา ที่ได้รับการคัดเลือกจากคนในชุมชน เข้ารับฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้สามารถจัดบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานแบบผสมผสานทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาลเบื้องต้นและการฟื้นฟูสุขภาพ เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน ซึ่งการส่งเสริมและพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ได้ริเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ในระยะแรกเป็นโครงการทดลองใน 20 จังหวัด โดยทดลองในทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ตำบล เรียกว่าเป็นการใช้ “กลวิธีการสาธารณสุขมูลฐาน” ซึ่งเป็นกลวิธีหลักในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศในขณะนั้น
ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2536 ได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ รวมถึงส่งเสริมให้ อสม.ได้รวมพลังพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนชาวไทย และได้ดำเนินการจัดงานวัน อสม. แห่งชาติ ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา
ตลอดระยะเวลามากกว่า 4 ทศวรรษ อสม.ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีสุขภาพอนามัยดีขึ้นมาโดยตลอด อาทิ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด19 ที่ผ่านมา อสม.ถือเป็นกำลังภาคประชาชนที่สำคัญที่ทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตด้านสาธารณสุขมาได้ด้วยดี ปัจจุบันประเทศไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เป็นจำนวนกว่า 1.09 ล้านคนทั่วประเทศ รวมเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถือเป็นกลไกสำคัญในการดูแลสุขภาพคนในชุมชน ช่วยขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ และส่งเสริมสนับสนุนพี่น้องประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน
อสม.ได้รับค่าป่วยการครั้งแรกเมื่อปี 2552 ด้วยเงิน 600 บาทต่อเดือน
หากพูดถึงเรื่องค่าป่วยการ อสม.นั้น ในยุคแรกๆ อสม. ยังไม่ได้ค่าตอบแทนเลยด้วยซ้ำเพราะเข้ามาทำหน้าที่ด้วยใจรักและมีจิตอาสาจริงๆ จนปัจจุบัน อสม.เริ่มได้รับค่าป่วยการ ครั้งแรกเมื่อปี 2552 เป็นจำนวนเงิน 600 บาทต่อเดือน ซึ่งเรื่องนี้ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยกับสำนักข่าว Hfocus ถึงความคืบหน้าค่าป่วยการว่า ค่าป่วยการ อสม. อยู่ในพระราชบัญญัติงบประมาณปีพ.ศ. 2567 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว ในส่วนของการเตรียมการของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นั้น เนื่องจากปีนี้เราตั้งงบประมาณสําหรับค่าป่วยการ อสม. เพิ่มจากเดือนละ 1,000 บาท เป็นเดือนละ 2,000 บาท ซึ่งกรมบัญชีกลางจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของอสม.ทุกคนประมาณวันที่ 15 พฤษภาคม 67 หรือกลางเดือนของทุกๆเดือนถัดไป เพราะฉะนั้นในรอบนี้จะมีค่าป่วยการ ซึ่งจ่ายตกเบิกย้อนหลังมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 รวม 6 เดือน รวมทั้งงบประมาณก้อนใหม่ที่จะต้องเบิกในเดือนเมษายน 2,000 บาท ดังนั้นโดยรวมแล้วในวันที่ 15 พฤษภาคม อสม.ทุกคนที่เคยได้รับค่าป่วยการมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 66 จะได้เงินย้อนหลัง 6 เดือนรวม 6,000 บาท
"เพราะว่าเดิมทีตั้งแต่ในช่วงต้นนั้นเราจัดสรรให้เพียงคนละ 1,000 บาท เพราะเป็นเงินงบประมาณที่ใช้จ่ายแบบพลางไปก่อนใน 6 เดือนที่แล้ว แต่พอมาเดือนเมษายน อสม.ก็จะได้รับทั้งหมด 2,000 บาท สรุปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 มาจนถึงเดือนเมษายน 2567 อสม.ทุกคนก็จะได้รับเงินค่าป่วยการคนละ 8,000 บาท" นพ.สุระ กล่าว
นพ.สุระ กล่าวต่อว่า เดิมทีเรามี อสม.ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ซึ่งมากกว่า 40 ปีแล้ว โดยตอนนั้น อสม.ไม่มีค่าป่วยการเนื่องจากเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข ซึ่งทุกคนก็อุทิศเวลาอุทิศทรัพย์สินในการทํางานเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข จนมาถึงเมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่งคณะรัฐมนตรีในยุคนั้นมีมติเห็นชอบที่จะให้ค่าป่วยการอสม.เป็นเดือนละ 600 บาทต่อเดือน เนื่องจาก อสม.มีค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เติมน้ำมันรถ หรือชดเชยค่าเสียเวลา เป็นต้น
ปี 2561 เพิ่มค่าป่วยการจากเดิมเดือนละ 600 บาท เป็น 1,000 บาท
จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2561 อสม.ได้ค่าป่วยการเพิ่มจากเดือนละ 600 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท เพราะว่ามีค่าใช้จ่ายเรื่องอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเราให้ อสม.ส่งงานผ่านสมาร์ทอสม. ซึ่งอสม.ทุกคนต้องไปเช่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตประมาณ 300-500 บาท ซึ่งถ้า 600 บาท ไม่น่าจะพอ ซึ่งใน 1,000 บาท อสม.ต้องทํางานส่งงานเดือนละ 4 วัน รวมทั้งอสม.จะต้องรายงานผลการปฏิบัติงานเป็นประจำทุกเดือนใน 9 ภารกิจหลัก ประกอบด้วย 1. การส่งเสริมสุขภาพ 2. การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค 3. การฟื้นฟูสุขภาพ 4. การคุ้มครองผู้บริโภค 5. การจัดการสุขภาพชุมชนและการมีส่วนร่วมในแผนสุขภาพตำบล 6. การสนับสนุนอาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) 7. การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล/การบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ 8. การเข้าร่วมกับทีมหมอครอบครัวในการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยและครอบครัวในชุมชน 9. กิจกรรมอื่นๆ ตามสภาพปัญหาของชุมชน
ปี 2567 เพิ่มค่าป่วยการจากเดิมเดือนละ 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท
จนกระทั่งล่าสุด ในปี พ.ศ. 2567 มีการปรับค่าป่วยการเพิ่มขึ้นจากเดิมเดือนละ 1,000 บาท เป็นเดือนละ 2,000 บาท เนื่องจากอสม.มีงานมากขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก อสม.ทํางานมากกว่า 4 วันหรืออาจจะถึง 10 วันต่อเดือน จึงต้องเพิ่มค่าป่วยการให้ โดยอสม.ต้องรายงานในการทํางานเดือนละ 8 วันนอกจากนี้ยังมีงานอื่นเพิ่มเติม อย่างเช่น เรื่องยาเสพติดในปัจจุบันอสม.ต้องช่วยเช่นกัน หรือเรื่องผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง การติดตามหญิงตั้งครรภ์เข้าถึงยาเม็ดเสริมไอโอดีน เป็นต้น
เมื่อถามว่ามีความคาดหวังอย่างไรกับภารกิจ อสม.ในอนาคต นพ.สุระ กล่าวว่า เนื่องจาก อสม.ได้รับการพัฒนามาครบทุกอย่างในการทํางานในระดับปฐมภูมิ ซึ่ง อสม.คือหมอคนที่หนึ่ง เพราะฉะนั้นในประเทศไทยเรามี รพ.สต. เพียง 1 หมื่นแห่ง โดยแต่ละแห่งมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 3-5 คน โดยประมาณ ซึ่งคงไม่สามารถดูแลประชาชนได้ทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ อสม. ทั้ง 1,090,000 คน ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในระดับปฐมภูมิในการดูแลพี่น้องประชาชน ฉะนั้นในส่วนที่ผ่านมาเราเห็นได้ว่าในช่วงที่โควิดระบาดก็ได้ อสม.ช่วยทําให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิดได้เร็วที่สุด และสามารถเปิดประเทศได้เร็วมาก เนื่องจากเราใช้ อสม.เป็นผู้ดําเนินการช่วยหมอคนที่ 2 คนที่ 3
"เพราะฉะนั้นเราคาดหวังว่า อสม. จะเป็นหมอคนที่ 1 เป็นหมอคนแรกในหมอ 3 คน โดยหมอคนที่หนึ่งคืออสม. หมอคนที่สองคือหมออนามัยหรือหมอรพ.สต. หมอคนที่สามคือหมอที่อยู่ที่โรงพยาบาลที่เป็นนายแพทย์จริงๆ ดังนั้นอสม. สามารถที่จะแบ่งเบาภาระของหมอคนที่สองและหมอคนที่สามได้ความคาดหวังของเราก็หวังว่าอสม.จะช่วยในการแก้ปัญหาสุขภาพและพัฒนาสุขภาพของพี่น้องประชาชนคนไทยได้" นพ.สุระ กล่าว.
- 3517 views