รพ.ภาชี ประกาศเปิดบริการแผนกผู้ป่วยนอก และอุบัติเหตุฉุกเฉินตามปกติ ตั้งแต่ 3 พ.ค. เป็นต้นไป หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมี ในพื้นที่ อ.ภาชี จ.อยุธยา ด้านกรมการแพทย์ แนะ 9 ข้อปฏิบัติตัวที่ถูกต้องแก่ประชาชน พ้นภัยสารเคมีรั่วไหล
ตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยความจำเป็นต้องปิดโรงพยาบาลภาชีชั่วคราว หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมี ในพื้นที่หมู่ 2 ต.ภาชี อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา พบคุณภาพอากาศภายในอาคารยังมีค่าสารมลพิษจากการเผาไหม้สูงกว่าเกณฑ์ พร้อมเปิดโรงพยาบาลสนามที่วัดโคกม่วง ดูผู้ป่วยนอกและฉุกเฉินนั้น
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ปิด "รพ.ภาชี" ต่อ เหตุมลพิษในอากาศยังสูง พร้อมติดตามผลกระทบสุขภาพ ปชช.)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ออกประกาศ โรงพยาบาลภาชี เปิดบริการแผนกผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุฉุกเฉิน ได้ตามปกติ ตั้งแต่ วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 16.00 น เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ดังกล่าว หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่แจ้งให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณตั้งแต่โรงพยาบาลภาชี ไปจนถึงตลาดภาชี และบริเวณใกล้เคียง สวมหน้ากากอนามัย และออกมาอยู่ในที่โล่ง เพื่อป้องกันอันตรายจากกลุ่มควันที่ฟุ้งกระจาย ล่าสุด พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชน จึงสั่งการให้กรมการแพทย์ให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องแก่ประชาชน เนื่องจากสารเคมีรั่วไหลมีอันตรายต่อชีวิต ได้แก่ มีอาการระคายเคืองตาและระบบทางเดินหายใจ ปวดหัว มึนงง คลื่นไส้ มีผื่นคันและผิวไหม้ร่วมด้วย นอกจากนี้ อาจมีสารก่อมะเร็ง โดยขึ้นอยู่กับชนิด ระยะเวลาและปริมาณสารเคมีที่สัมผัส อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ด้วยเพื่อความปลอดภัย
ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า หากประชาชนประสบกับเหตุการณ์ใกล้เคียงกันนี้ มีข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว ดังนี้
1. ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด หากอากาศร้อนให้ใช้เครื่องปรับอากาศหรือพัดลมเพื่อบรรเทาแทน
2. พยายามอยู่แต่ภายในบ้าน หากต้องออกข้างนอก ให้อยู่ในที่โล่งและไกลห่างจากรัศมีควันและไอสารเคมี
3. ใส่หน้ากากชนิดมีไส้กรองหรือใช้หน้ากาก N95 และแว่นตาว่ายน้ำเพื่อป้องกันอาการระคายเคืองตา
4. หากมีโรคประจำตัวให้แจ้งเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคปอด โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิดและได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง เนื่องจากสารเคมีที่เข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้อาการของโรคประจำตัวกำเริบขึ้นได้
5. หากมีอาการแสบตา แสบคอ แสบจมูกมาก หรือ ไอ หอบ เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก ให้รีบพบแพทย์
6. ห้ามสูบบุหรี่เด็ดขาด
7. ค้นหาเส้นทางและพาหนะที่ใกล้ที่สุด เพื่อไปหาความช่วยเหลือได้
8. จดหมายเลขโทรศัพท์ผู้ช่วยเหลือและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
9. หลังเหตุการณ์ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพและติดตามการตรวจสุขภาพเป็นระยะตามที่แพทย์สั่ง
ขณะที่นพ.กิติพงษ์ พนมยงค์ หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์มีสถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่พร้อมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนที่ประสบเหตุและประชาชนในพื้นที่โดยรอบเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเกี่ยวกับสุขภาพที่ถูกต้อง โดยสามารถติดต่อประสานงานหรือขอข้อมูลได้ที่ 0-2517-4333
- 189 views