สถาบันวัคซีนแห่งชาติชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่อง ภาวะลิ่มเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombosis with thrombocytopenia syndrome, TTS) ภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด 19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า เผยพบ 1 ใน 10 ล้านคน ยันไทยไม่มีฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้ว

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 สถาบันวัคซีนแห่งชาติชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่อง ภาวะลิ่มเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombosis with thrombocytopenia syndrome, TTS) ภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด 19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวในประเด็น บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ยอมรับว่าวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทอาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombosis with thrombocytopenia syndrome, TTS) ซึ่งอาจทำให้เกิดความกังวลใจของประชาชนได้นั้น สถาบันวัคซีนแห่งชาติรับทราบข้อกังวลดังกล่าวแล้ว และขอให้ข้อมูล ดังนี้

1. ข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ข้อมูลใหม่ แต่เป็นข้อมูลที่ได้รับจากการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เมื่อเริ่มมีการใช้วัคซีนโควิด-19 ชนิดไวรัสเวกเตอร์ ของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ในวงกว้าง ซึ่งจากข้อมูลทั่วโลก พบว่า ภาวะ TTS ที่เกิดขึ้นภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดไวรัสเวกเตอร์ เป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่พบได้น้อยมาก โดยรายงานการเกิดภาวะ TTS ภายหลังการฉีดวัคซีนส่วนใหญ่มาจากสหราชอาณาจักร (UK) และสหภาพยุโรป (EU) และจากรายงานทั่วโลกพบว่า อุบัติการณ์ของภาวะ TTS ภายหลังการฉีดวัคซีน มีความแตกต่างทางภูมิศาสตร์อย่างมาก โดยมีรายงานน้อยมากที่มาจากประเทศนอกยุโรป

จากข้อมูลของสหราชอาณาจักร (ณ วันที่ 14 มิ.ย.2564) และสหภาพยุโรปคาดการณ์ว่า ความเสี่ยงในการเกิด TTS ของประชากรในภูมิภาคอยู่ที่ประมาณ 1 ราย ต่อ 100,000 ประชากร  ในขณะที่ ฐานข้อมูลความปลอดภัยระดับโลกของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า พบว่า อัตราการรายงาน TTS ต่อประชากร 1,000,000 คน อยู่ระหว่าง 0.2 (ในประเทศแถบเอเชียและบราซิล) ถึง 17.6 (ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก) สำหรับประเทศไทย มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ทั้งหมด 48,730,984 โดส พบผู้สงสัยหรือยืนยันภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำจำนวน 7 คน อัตราการเกิดภาวะ TTS เท่ากับ 0.014 ต่อ 100,000 ประชากร หรือ จะพบผู้มีภาวะดังกล่าวได้ 1 คน ในผู้ได้รับวัคซีนจำนวน 10,000,000 คน

ภาวะ TTS ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับวัคซีน ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นภายใน 3-21 วันแรก หลังจากที่ได้รับวัคซีน

2. ภาวะ TTS ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับวัคซีน ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นภายใน 3-21 วันแรก หลังจากที่ได้รับวัคซีน ซึ่งมักพบภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มแรกมากกว่าเข็มที่สอง และพบในคนอายุน้อยมากกว่าผู้สูงอายุ ปัจจุบันยังไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โดยจากการเก็บข้อมูลพบว่าภาวะ TTS มักเกิดในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการเกิดลิ่มเลือดมาก่อน ผู้ป่วยที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง รวมถึงผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากระบบภูมิคุ้มกัน

ทั้งนี้ ข้อมูลความเสี่ยงของภาวะดังกล่าว ได้ถูกเพิ่มเติมในเอกสารกำกับยาของวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า หัวข้อ “คำเตือนพิเศษ และข้อควรระวังในการใช้ยา” ตั้งแต่ วันที่ 8 ก.ย.2564 ภายหลังจากที่มีข้อมูลภายหลังการใช้วัคซีนในวงกว้างมากขึ้น ทำให้หลังจากนั้นสามารถติดตามเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการฉีดวัคซีน และสามารถให้การรักษาภาวะดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม

3. ความเสี่ยงของการเกิดภาวะ TTS ภายหลังจากการป่วยด้วยโควิด-19 สูงกว่าความเสี่ยงที่เกิดจากการได้รับวัคซีนโควิด -19 หลายเท่า จากการเก็บข้อมูลในอังกฤษ (England) ซึ่งมีประชาชนจำนวน 19,608,008 คน ที่ได้รับวัคซีนโควิด -19 ของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า เป็นโดสแรก กับกลุ่มประชาชนที่มีผลบวกในการตรวจการติดเชื้อ SARS-CoV-2 จำนวน 1,758,095 คน ซึ่งในการศึกษา สามารถวิเคราะห์ข้อมูลอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะต่าง ๆ ในช่วง 8-14 วัน หลังได้รับวัคซีน ซึ่งเป็นช่วงที่มีรายงานอุบัติการณ์สูงสุดได้ 

4. องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกเอกสารคำแนะนำสำหรับการใช้วัคซีนโควิด-19 ของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้าตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 และได้มีการปรับคำแนะนำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ เมื่อมีข้อมูลภายหลังการใช้ที่มากขึ้น โดยมีการปรับปรุงคำแนะนำล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 มีใจความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นภาวะ TTS ที่เกิดภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด- 19 ชนิดไวรัสเวกเตอร์ ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ดังนี้

ในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิด -19 อย่างต่อเนื่อง ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคมีมากกว่าความเสี่ยงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การประเมินประโยชน์และความเสี่ยงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ทั้งนี้ แต่ละประเทศควรพิจารณาสถานการณ์ทางระบาดวิทยา ความเสี่ยงในระดับบุคคลและประชากร ความพร้อมของวัคซีนชนิดอื่น ๆ และทางเลือกสำหรับการลดความเสี่ยง ซึ่งจากข้อมูลทั่วโลกพบว่า การรับวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงสูงที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจาก หากประชากรในกลุ่มนี้ ป่วยด้วยโควิด- 19 มีโอกาสที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ และความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่มีสาเหตุมาจากการป่วยด้วยโควิด -19 จะเพิ่มขึ้นตามอายุ นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีภาวะ TTS ภายหลังการรับวัคซีนโดสแรก ไม่ควรได้รับวัคซีนชนิดเดิมเป็นโดสที่สอง

ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดไวรัสเวกเตอร์ ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าแล้ว

5. ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดไวรัสเวกเตอร์ ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าแล้ว เมื่อพิจารณาจากข้อมูลข้างต้น พบว่าความเสี่ยงของการเกิดภาวะ TTS ที่เป็นผลมาจากการป่วยด้วยโควิด- 19 มีอุบัติการณ์สูงกว่า ภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิดไวรัสเวกเตอร์ ของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า อย่างมาก และทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย มีระบบกำกับดูแลความปลอดภัยของการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนมากกว่าความเสี่ยงที่ได้รับอย่างดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงภายหลังจากการได้รับวัคซีนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่จะมีการควบคุมให้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด ก่อนการพิจารณาอนุญาตให้ใช้วัคซีนในวงกว้าง ขอให้ประชาชนคลายความกังวลใจ ทั้งนี้ หากมีข้อมูลเพิ่มเติม สถาบันวัคซีนแห่งชาติจะทำการอัพเดตข้อมูลให้ทราบเป็นระยะ

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

- ภาวะลิ่มเลือดจากวัคซีนโควิดแอสตร้าฯ เกิดขึ้นหลังฉีด 5-42 วัน จิ้มเข็มสุดท้าย มี.ค.66

- รอผู้เชี่ยวชาญชี้ “วัคซีนโควิด” เข้าสิทธิประโยชน์ฉีดฟรีหรือไม่ เหตุไม่ฉุกเฉินเหมือนอดีต