สถาบันวัคซีนแห่งชาติเผยต้องรอผู้เชี่ยวชาญในคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค พิจารณา “วัคซีนโควิด” เข้าชุดสิทธิประโยชน์หรือไม่ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนอื่นๆ  ส่วนวัคซีนสัญชาติไทยของจุฬาฯ หยุดดำเนินการแล้ว แต่นับเป็นการพัฒนาศักยภาพ รองรับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคระบาดหนักในอนาคต ประเทศอื่นๆก็ทำ  ด้านวัคซีน อภ.ขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ต้องพัฒนาวัคซีนให้ทันสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไป

 

ตามที่สถานการณ์โควิด19 เริ่มคลี่คลาย กลายเป็นโรคประจำถิ่น ด้านกรมควบคุมโรค อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพิจารณาความจำเป็นการผลักดันให้วัคซีนป้องกันโควิด19 เป็นวัคซีนในชุดสิทธิประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบันเมื่อโควิดไม่ระบาดหนัก การใช้วัคซีนจึงไม่อยู่ในภาวะฉุกเฉิน การจัดสรรให้บริการวัคซีนจึงไม่ฟรีอีกเหมือนในอดีต และองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ประกาศว่า จำเป็นต้องฉีดป้องกันทุกปีเหมือนไข้หวัดใหญ่นั้น

(ภาวะลิ่มเลือดจากวัคซีนโควิดแอสตร้าฯ เกิดขึ้นหลังฉีด 5-42 วัน ส่วนวัคซีนโควิด19 ฉีดประจำปีหรือไม่ต้องรอขั้นตอน)

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงการดำเนินการผลักดันวัคซีนโควิด19 เป็นวัคซีนในชุดสิทธิประโยชน์ เพื่อจัดสรรฉีดให้ฟรีตามกลุ่มเป้าหมาย ว่า  การผลักดันให้เป็นวัคซีนในชุดสิทธิประโยชน์จะมีขั้นตอน เริ่มจากต้องผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ที่อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นประธาน จากนั้นจะเข้าสู่คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชีวัคซีนหลักแห่งชาติ ที่มี รศ.นพ.ทวี  โชติพิทยสุนนท์ เป็นประธาน เพื่อจะบรรจุเข้าสู่รายการบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงจะสามารถดำเนินการเข้าสู่สิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

เมื่อถามว่าไทยยังจำเป็นต้องผลักดันวัคซีนโควิดเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ เพื่อฉีดประจำปีคล้ายวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือไม่ นพ.นคร กล่าวว่า ต้องขึ้นกับความเห็นของอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็คือคณะกรรมการที่กล่าวข้างต้น

ถามต่อกรณีก่อนหน้านี้ได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดสัญชาติไทย อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังขับเคลื่อนอย่างไรต่อ นพ.นคร กล่าวว่า  ไม่ได้ทำต่อในส่วนของจุฬาฯ แต่องค์ความรู้ที่ได้ในการพัฒนา ถือว่าเป็นประโยชน์ เนื่องจากขณะนั้นไม่ทำการศึกษาวิจัยคงไม่ได้  แต่ด้วยสายพันธุ์ที่ปรับเปลี่ยนตลอด การมีองค์ความรู้เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ  อย่างไรก็ตาม ส่วนขององค์การเภสัชกรรม ที่วิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด ได้รับการอนุมัติการขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Approval) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปก่อนหน้านี้ ยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ทันและสอดคล้องกับสถานการณ์เช่นกัน   

“ศักยภาพที่เกิดขึ้นในการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด สามารถนำมาใช้ในภายภาคหน้า หากมีโรคระบาดอีก ซึ่งหลายประเทศก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน ถือเป็นต้นทุนในการพัฒนาศักยภาพของแต่ละประเทศ ไทยก็เช่นกัน” นพ.นคร กล่าว

เมื่อถามถึงข้อกังวลที่มีกลุ่มออกมาค้านวัคซีนโควิดชนิด mRNA ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติติดตามเรื่องนี้หรือไม่ นพ.นคร กล่าวว่า สถาบันฯติดตามข้อมูลมาตลอด อย่างของระดับโลกก็มีข้อมูลการเฝ้าระวังเรื่องนี้ ทั้ง WHO ทั้ง US CDC และใน EU  ซึ่งยังเหมือนเดิม คือ  ผลข้างเคียงที่กังวลใจกันเกิดในอัตราที่น้อยมาก อีกทั้ง ยังพบว่าผลข้างเคียงที่กังวลกันเกิดไม่บ่อยเมื่อเทียบกับคนที่ป่วยโควิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หากป่วยโควิดพบการเกิดขึ้นมากกว่าไม่ฉีดวัคซีน หรือแม้แต่ลิ่มเลือดอุดตันก็เช่นกัน พบว่าโควิด19 ทำให้เกิดมากกว่าฉีดวัคซีน