กระทรวงสาธารณสุข เตรียมยกระดับ รพ.สมุทรปราการเป็นสถาบันจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์  หลังผ่านเกณฑ์ประเมินจากแพทยสภา โดยร่วมเป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ฝึกนักศึกษาแพทย์ชั้นปี 4-6 เน้นหลักสูตรแพทย์ที่มีความโดดเด่นด้านบริหารจัดการ ด้านมหาวิทยาลัยเตรียมส่งหลักสูตร แผนอาคารสถานที่ บุคลากร และกรอบระยะเวลาให้พิจารณาก่อนลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันต่อไป

 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)มีนโยบายพัฒนาศักยภาพสถานบริการในสังกัดตามแนวทาง S A P คือ S: Standard ให้บริการตามมาตรฐานขั้นต้นของโรงพยาบาล A: Academy ให้บริการที่ซับซ้อนขึ้นและเป็นแหล่งศึกษาฝึกอบรมบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขก่อนสำเร็จหลักสูตร และ P: Premium/Professional ให้บริการขั้นสูงและเป็นแหล่งศึกษาฝึกอบรมบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขเฉพาะสาขา

โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ในการฝึกนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4-6 รวม 45 แห่ง ซึ่งช่วยให้ได้บุคลากรที่มีความซึ่งช่วยให้ได้บุคลากรที่มีความเข้าใจในบริบทการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งเข้าใจถึงปัญหาสุขภาพและการดูแลประชาชนในพื้นที่

นพโอภาสกล่าวต่อว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) หรือ CPIRD ได้จัดประชุมหารือการจัดตั้งศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก ระหว่างโรงพยาบาลสมุทรปราการ กับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยเบื้องต้นโรงพยาบาลสมุทรปราการยินดีเข้าร่วมเป็นสถาบันหลักในการผลิตแพทย์กับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เนื่องจากการประเมินเบื้องต้น โรงพยาบาลมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การประเมินของแพทยสภา ทั้งเรื่องจำนวนเตียง อัตราการครองเตียง การประกันคุณภาพ (HA) บุคลากรแพทย์ และจำนวนผู้ป่วย

พญ.พิมพ์เพชร สุขุมาลไพบูลย์ ผู้อำนวยการ สบพช. กล่าวว่า จากนี้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจะจัดทำแผนและกรอบระยะเวลามานำเสนออีกครั้ง ทั้งแผนการจัดหาพื้นที่เอกชน รูปแบบอาคารศูนย์แพทย์ฯ ที่พักนักศึกษา เจ้าหน้าที่ โดยทางมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ดำเนินการเอง สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจะเสนอสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 และจะส่งให้โรงพยาบาลสมุทรปราการเพื่อพัฒนาร่วมกัน ทั้งการพัฒนาอาจารย์และบุคลากร การปรับปรุงสถานที่ในโรงพยาบาล หอผู้ป่วยต่างๆ แผนรับบุคลากรและฝึกบุคลากรสนับสนุนงานศูนย์แพทย์ฯ เบื้องต้นจะเป็นหลักสูตรแพทย์นานาชาติที่โดดเด่นทางด้านการบริหารจัดการ รับนักศึกษาจำนวน 40 คน เป็นนักศึกษาต่างชาติร้อยละ 10 โดยหลังจากมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสมุทรปราการ และ สบพช. มีข้อตกลงที่เห็นพ้องต้องกัน เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายและเป็นไปตามกฎหมายแล้ว จะมีการจัดทำบันทึกลงนามความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันต่อไป